ตำแหน่งสิวบอกโรคได้จริงหรือไม่ คงเป็นคำถามที่คาใจเราชาวสายวิทย์มากๆกันเลยใช่ไหมคะ PHAR-มา-WRITE จำได้ว่า สมัยมัธยมต้น (อูยยยย นานมากแล้ว) สิวขึ้นบริเวณหางตา แล้วมีเพื่อนมาบอกว่า เพื่อนอ่านเจอมาว่าสิวขึ้นที่หางตาเนี่ย แปลว่า ไตเราสุขภาพไม่ดี ทำให้สิวขึ้นที่หางตานะ จริงๆ ตำราตำแหน่งสิวบอกโรคเป็นอีกศาสตร์หนึ่งของแพทย์แผนจีนและอายุรเวทโบราณที่มีความเชื่อติดต่อกันมาถึงความเกี่ยวข้องของตำแหน่งสิวกับสุขภาพค่ะ
แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า มีหลากหลายสาเหตุมากที่ทำให้เกิดสิว และสิวก็สามารถแบ่งย่อยออกได้หลายประเภท สิวฮอร์โมนเอย สิ่งสกปรกอุดตันตามรูขุมขนเอย สิวสเตียรอยด์เอย ฯลฯ บางคนอาจจะรู้สึกว่า ฉันทำความสะอาดใบหน้าดีแล้วนะ ฉันไม่แต่งหน้าแล้วนะ ทำไมยังเกิดสิวอยู่เนืองๆ เพราะว่าสิวเกิดได้จากหลายสาเหตุนั่นเอง วันนี้ PHAR-มา-WRITE จึงจะขอพูดถึง 2 ตำราที่พูดเกี่ยวกับแผนที่สิวบนใบหน้า คือ ตำราตามศาสตร์อายุรเวท และ ตำราตามสาเหตุการเกิดสิวอื่นๆ นะคะ
ACNE FACE MAP แผนที่สิวบนใบหน้าตามสาเหตุอื่นๆ
บางงานวิจัยแสดงให้เห็นปัจจัยที่จำเพาะที่เกี่ยวข้องต่อบริเวณการเกิด แบ่งได้ 4 โซน ดังนี้ 1. ช่วงหน้าผากบริเวณไรผม 2. บริเวณ T-zone 3. บริเวณแก้ม 4. บริเวณกราม
- ช่วงหน้าผากบริเวณไรผม หรือสิวที่หน้าผาก
ศัพท์ที่เกี่ยวข้อง: forehead acne = สิวที่ขึ้นบริเวณหน้าผากและไรผม, pomade acne = สิวที่เกิดจากผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม มักจะขึ้นบริเวณหน้าผากตามไรผม (pomade = ผลิตภัณฑ์จัดแต่งเส้นผม)
สิวที่ขึ้นบริเวณหน้าผากและไรผม (forehead acne) อาจเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม หรือเรียกว่า pomade acne (สิวโพเมด) สามารถเกิดได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ทุกประเภทผิว เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับจัดแต่งเส้นผมที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน (oily) หรือแว็กซ์ (wax) เมื่อทาลงบนเส้นผม จึงมีโอกาสสัมผัสกับผิว เคลือบอยู่บนผิวจนรูขุมขนอุดตัน และเกิดสิวได้ รวมถึงการใช้แชมพู ครีมนวด ที่มีส่วนประกอบบางประเภท เช่น silicone ซึ่งก่อให้เกิดการอุดตัน วิธีการแก้ คือ ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งเส้นผมสัมผัสกับผิว หรือหากสัมผัสแล้วให้รีบเช็ดออกให้เร็วที่สุด ปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมที่มีส่วนประกอบที่ไม่ก่อให้เกิดสิวออกมาจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ค่ะ
- บริเวณ T-ZONE
บริเวณ T-ZONE ประกอบด้วย หน้าผาก จมูก และคาง บริเวณนี้จะมีต่อมไขมัน (Sebaceous Gland) จะผลิตไขมันหรือซีบัม (sebum) ซึ่งเจ้าซีบัมมีองค์ประกอบหลักเป็นไขมันที่มีสภาพเป็นกลาง ซีบัมในปริมาณที่พอดี จะช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื่น ความยืดหยุ่น เมื่อต่อมไขมันสังผลิตซีบัมถูกสร้างจนมีปริมาณมากเกินพอ ซีบัมจะเดินทางจากต่อมไขมันโดยใช้เส้นทางเป็นรูขุมขนขึ้นไปยังผิวหนัง เมื่อซีบัมมาเจอกับเจ้าแบคทีเรียบนผิวหนัง ตู้มมม! เกิดเป็นสิวอักเสบ นั่นเอง มีงานวิจัยของ Choi, C.W. และคณะ พบว่า ปริมาณซีบัมมีความสัมพันธ์กับจำนวน สัดส่วนและตำแหน่งของสิวอย่างทีนัยสำคัญทางสถิติ แปลว่า ยิ่งซีบัมถูกผลิตออกมาเยอะ จึงยิ่งทำให้มีจำนวนสิวเยอะนั่นเอง ทีนี้ คนที่หน้ามันเยอะๆระหว่างวัน หายสงสัยเลยใช่ไหมคะ ว่าทำไม สิวถึงชอบขึ้นบริเวณ T-ZONE บ่อยๆ
- บริเวณแก้ม
สิวที่ขึ้นบริเวณแก้ม เรียกว่า สิวเสียดสี (acne mechanica) นั่นคือ การเสียดสี ส่งผลให้เกิดสิวนั่นเอง ยกตัวอย่างที่เจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาเราคุยโทรศัพท์แล้วเอาโทรศัพท์แนบกับหน้า โทรศัพท์เราจะสัมผัสเสียดสีกับแก้ม การใส่หน้ากากอนามัยก็สามารถเสียดสีกับบริเวณแก้มได้เช่นกัน หรือเวลาเรานอน ปลอกหมอนจะสัมผัสกับแก้มเราทั้งคืน (จึงมีปลอกหมอนลดสิวขายไงล่ะ!) จริงๆแล้ว สิวเสียดสีไม่ได้เกิดบริเวณแก้มอย่างเดียวนะ อย่างในนักกีฬาสามารถเกิดสิวเสียดสีได้ในบริเวณอื่นของร่างกายที่ใช้ผ้ารัดแน่นๆได้เช่นกัน ฉะนั้น ควรหมั่นรักษาความสะอาดปลอกหมอนหรือชุดเครื่องนอนบ่อยๆ รวมถึงไม่เอาโทรศัพท์แนบใบหน้านานๆนะคะ
- บริเวณกราม
มาค่ะ บริเวณนี้ค่อนข้างวิทยาศาสตร์พอสมควร นักวิทยาศาสตร์พบแนวโน้มว่าสิวที่ขึ้นบริเวณกราม อาจเกิดจากความแปรปรวนของฮอร์โมนได้ แต่ก็ยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนมากพอที่จะสรุปนะ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สามารถผลิตฮอร์โมนที่ชื่อ DHEA-S จากต่อมหมวกไต หรือ adrenal glands ได้ งานวิจัยของ Dréno, B. พบว่าผู้หญิง 39-85% สิวที่มีอยู่เดิมจะแย่ลงก่อนมีประจำเดือนได้ค่ะ
ACNE FACE MAP แผนที่สิวบนใบหน้าตามศาสตร์อายุรเวท
ที่นี้มาเข้าเรื่องกันนะคะ โรคที่มักจะมีสิว หรือ พูดง่ายๆ คือ หากเป็นโรคเหล่านั้น มักจะมีสิวขึ้น มีบทความเขียนเรื่องนี้และค่อนข้างวิชาการพอสมควรค่ะ วันนี้ PHAR-มา-WRITE จึงขอหยิบยกเฉพาะโรคที่คุ้นเคยและพบได้บ่อยนะคะ นั่นคือ PCOS นะคะ
Polycystic Ovary Syndrome; PCOS หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
โรคนี้ไม่พูดถึงไม่ได้เลยจริงๆ ค่ะ สาวๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนปลาย (PHAR-มา-WRITE เองแหละ) อาจจะรู้สึกงงๆ ว่าทำไมเรายังเป็นสิวอยู่นะ ทั้ง ๆที่เลยช่วงวัยรุ่น ช่วงฮอร์โมนพีคๆ มาแล้ว อาการสิวเยอะ ผมร่วง ขนดก ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นสัญญาณเตือนให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมค่ะ Polycystic Ovary Syndrome คือ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นภาวะทางต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 5-10% ในผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยใกล้หมดประจำเดือน อายุ 15 – 45 ปี หนึ่งในกลไกผิดปกติของโรคนี้ คือ มีความผิดปกติของระดับหรือการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย (อย่าเพิ่งสับสนนะ แม้เราเป็นผู้หญิง เราก็ยังฮอร์โมนเพศชายนะ แต่ในปริมาณน้อยอย่างสมดุล) อาการแสดงทางผิวหนัง คือ สาวๆ จะมีสิวเยอะ หน้ามันเหมือนผู้ชาย รักษาเท่าไหร่ สิวก็ไม่หายไปสักที โดยมักจะเป็นสิวรุนแรง เรื้อรัง ทั้งสิวอุดตันและสิวอักเสบ พบว่า สิวจาก PCOS มักขึ้นบริเวณช่วงล่างของใบหน้า ขากรรไกร และคอ ถ้าสาวๆ ได้รับการรักษาโรค PCOS สิวและผิวหน้าจะดีขึ้นอย่างชัดเจนเลยค่ะ
จริงๆแล้ว มีอีกหลายโรคที่สามารถทำให้เกิดสิวได้ เช่น กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome), โรคภาวะบกพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไตแต่กำเนิด, ภาวะเนื้องอกต่อมหมวกไต และโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) เป็นต้น (หากสนใจ สามารถค้นคว้าจาก keywords: medical condition that causes acne) นอกจากนี้ ยาหรือยาคุมกำเนินที่มีฮอร์โมนบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดสิวได้เช่นกันนะคะ (หากสนใจ สามารถค้นคว้าจาก keywords: drug-induced acne หรือปรึกษาเภสัชกรได้ค่ะ) อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เดาคำตอบกันได้แล้วใช่มั้ยคะว่า ‘สิวบอกโรคได้หรือไม่’ คำตอบ คือ ‘บอกได้ค่ะ’ เพราะการเป็นโรค หรือกินยาบางชนิดทำให้เกิดสิวได้ แต่ถ้าถามว่า ‘ตำแหน่งสิวบอกโรคได้หรือไม่’ นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าเรายึดจากศาสตร์ไหน หากเป็นศาสตร์แผนจีนหรืออายุรเวทโบราณ ก็มีความเป็นไปได้ค่ะ แต่ถ้ามองตามหลักการวิทยาศาสตร์ ก็คงต้องขอตอบว่า ยังสรุปไม่ได้ค่ะ ขออ้างอิงจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งของการเกิดสิวในที่ต่าง ๆ ของใบหน้าหรือร่างกายกับความผิดปกติหรือโรคในระบบอื่นๆ นั้น ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันหรือสนับสนุนความผิดปกติในเรื่องดังกล่าว
(อ่านเพิ่มได้ที่ https://www.hfocus.org/content/2022/12/26651)
สรุปก็คือ เมื่อเราเป็นสิว และแก้ไขได้อย่างตรงจุด สิวนั้นจะหายไปหรือเกิดขึ้นใหม่จะน้อยลงได้ ฉะนั้นต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารสำคัญที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมต่อปัญหาผิวของเรานะคะ แต่ถ้าแยกสิวไม่เป็น หรือเป็นสิวหลายประเภทพร้อมๆกัน Pharmular เค้ามีผลิตภัณฑ์มาตอบโจทย์ตรงนี้ค่ะ Acne cycle clear spot gel เป็นเจลแต้มสิวที่มีสารสำคัญกว่า 10 ชนิด นำทีมโดย bakuchiol (ตัวนี้เริ่ด จนต้องเขียนแยกอีกหนึ่งบทความ หากสนใจฝากอ่าน ‘คนเป็นสิว ใช้ Retinol ได้ไหม’) ที่ช่วยลดสิวอุดตัน สิวอักเสบ ฆ่าเชื้อสิว มีกรด BHA ที่ช่วยลดสิวอุดตันและลดรอยสิว และสารอื่นๆ อีกมากมาย จึงทำให้สามารถใช้ได้กับสิวทุกประเภท สมสโลแกน ตัวเดียวจบทุกสิว ไม่ต้องคิดเยอะ เลยค่ะ
References:
- Choi, C.W., Choi, J.W., Park, K.C. and Youn, S.W. (2013), Facial sebum affects the development of acne, especially the distribution of inflammatory acne. Journal of the European Academy of Dermatology and Venereology, 27: 301-306.
- Dréno, B. (2015), Treatment of adult female acne: a new challenge. J Eur Acad Dermatol Venereol, 29: 14-19
- Lolis MS, Bowe WP, Shalita AR. Acne and systemic disease. Med Clin North Am. 2009 Nov;93(6):1161-81. doi: 10.1016/j.mcna.2009.08.008. PMID: 19932324.
- นิธิกานต์ ปภรภัฒ. ประจำเดือนไม่ปกติ ผมร่วง สิวเยอะ อ้วน เช็คอาการเสี่ยงภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภัยเงียบและฝันร้ายของสาวอยากมีลูก. 25 สิงหาคม เข้าถึงได้จาก https://www.chula.ac.th/highlight/130554/
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © Pharmular Brand All rights reserved.