ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยอย่าง “สิว (acne)” สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น สิววัยรุ่น ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ติดเชื้อสิว ผิวมีการอักเสบ ผิวหนังหนาตัวจนเกิดการอุดตัน หรือการแพ้เครื่องสำอาง แต่ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายเมื่อเร็วๆ นี้ คือ “ลำไส้ไม่ดี ทำให้เกิดสิว” ซึ่งในบทความนี้เราจะพูดถึงปัญหาทางเดินอาหารทำให้เกิดสิว โดยมี โปรไบโอติก (Probiotic) เป็นตัวช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหารให้ดีขึ้น พัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน และสุดท้ายคือ สามารถส่งผลในการรักษาสิวได้อย่างไรบ้าง?
สาเหตุการเกิดสิว
- เซลล์ผิวหนังบริเวณรูขุมขนแบ่งตัวมากผิดปกติ ทำให้เกิดสิวอุดตัน
- เซลล์ไขมัน ผลิตไขมันมากขึ้น ทำให้เกิดสิวอุดตัน
- เชื้อแบคทีเรียก่อสิวชนิด C. Acne หรืออื่นๆ
- สารก่อการอักเสบ
ซึ่งในปัจจุบันการเกิดสิวยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง โดยอิงจากการศึกษาที่แสดงว่าผู้ที่มีสิวถึง 40% มีอาการกรดในกระเพาะอาหารต่ำ (hypochlorhydria) คือ กรดในกระเพาะอาหารที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ นำไปสู่การศึกษาทฤษฎี Gut-Brain-Skin นั่นเอง
ทฤษฎี Gut-Brain-Skin
ทฤษฎี Gut-Brain-Skin Axis อธิบายถึงความสัมพันธ์ ระหว่างลำไส้ (gut), สมอง (brain), และผิวหนัง (skin) โดยทฤษฎีกล่าวว่า อาการหรือโรคในแต่ละระบบ สามารถส่งผลกระทบต่อกันได้ โดยเน้นถึงผลกระทบที่เกิดจากจุลินทรีย์ในลำไส้ ต่อการตอบสนองของผิวหนัง และการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย
จากภาพวงจรด้านบน จะเห็นว่า ความเครียดจากสมอง หรือ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง/อาหารแปรรูปที่ขาดเส้นใย >> สุขภาพของลำไส้เปลี่ยนแปลง คือ จุลินทรีย์ในลำไส้เสียสมดุล (dysbiosis) สูญเสียชั้นจุลินทรีย์ดีในลำไส้ (โดยเฉพาะ Bifidobacterium) ทำให้เกิดรูพรุนในลำไส้ >> สารพิษแพร่จากลำไส้ผ่านรูเข้าสู่กระแสเลือด >> เกิดภาวะของการอักเสบ สารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นและความไวต่ออินซูลินลดลง
การเกิดภาวะเหล่านี้จะส่งผลต่อผิวหนัง โดยเพิ่มโอกาสในการผลิตน้ำมันส่วนเกินมากขึ้น ส่งผลต่อการเกิดสิวอักเสบ และมีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งวนกลับมาเป็นวงจร Gut-Brain-Skin Axis โปรไบโอติกมีบทบาทในการตัดวงจรการเกิดสิวด้วยทฤษฎี Gut-Brain-Skin โดยเฉพาะที่ลำไส้ ทำให้มีการฟื้นฟูสมดุลของลำไส้ ช่วยลดการอักเสบและการเกิดสิวได้นั่นเอง
มาทำความรู้จัก Probiotic เพิ่มเติมกัน
โปรไบโอติก (Probiotic) ถูกนิยามโดยองค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่าเป็น “จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อบริโภคในปริมาณที่เพียงพอจะมีผลดีต่อสุขภาพ”
ตัวโปรไบโอติกมีบทบาทในการจัดการโรคและการปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากโปรไบโอติกมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทั่วไปตั้งแต่โยเกิร์ตไปจนถึงครีมบำรุงผิว โดยมักถูกผลิตขึ้นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการหมัก แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และ บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นโปรไบโอติกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด
Probiotic กับการรักษาสิว
การรักษาสิวในปัจจุบันที่ได้ผลดีมักเป็นการใช้ยาทาภายนอก แต่มักจะส่งผลต่อเกราะป้องกันผิว (skin barrier) นำไปสู่อาการผิวแห้งและการระคายเคือง หรือแม้แต่การรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา มีภาวะดื้อยาและยาดังกล่าวยังทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น ดังนั้น จึงมีการรักษาโรคสิวด้วยวิธีทางเลือก ด้วยการเสริมสร้างจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ด้วยการรับประทานโปรไบโอติก
การปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ลดการเติบโตของเชื้อก่อสิว
โปรไบโอติกจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในระบบทางเดินอาหารให้มีแบคทีเรียที่ดีและ มีประโยชน์มากกว่าหรือในสัดส่วนที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับแบคทีเรียที่ไม่ดี/ก่อโรค โปรไบโอติกจะช่วยส่งเสริมการเติบโต และเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ เนื่องจากเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และเข้าไปแข่งขันกับแบคทีเรียที่ไม่ดีเพื่อแย่งชิงอาหารและที่อยู่ ทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีลดจำนวนลง นอกจากนี้ยังผลิตสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เช่น C. acne ซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อสิวได้อีกด้วย
การลดภาวะอักเสบของร่างกาย
การอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว โปรไบโอติกมีคุณสมบัติในการลดภาวะอักเสบของร่างกาย ซึ่งช่วยให้สิวมีแนวโน้มลดลง โปรไบโอติกช่วยเพิ่มการผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งช่วยลดการตอบสนองที่เกินจำเป็นของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและยังสามารถช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน โดยลดการผลิตสารที่กระตุ้นการอักเสบ เช่น Endotoxin และ Substane P เป็นต้น โปรไบโอติกช่วยลดระดับอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ปรับปรุงการทำงานของลำไส้ให้แข็งแรง ช่วยลดการดูดซึมสารที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ เช่น สารพิษจากแบคทีเรีย ทำให้การอักเสบในร่างกายลดลง ก็อาจส่งผลต่อการลดสิวได้
การเสริมภูมิคุ้มกัน และเกราะป้องกันผิว
โปรไบโอติกช่วยเพิ่มความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันในลำไส้ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด โดยการเพิ่มความเข้มแข็งของผนังลำไส้
โดยสรุปแล้วโปรไบโอติกช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมจำนวนแบคทีเรียที่ไม่ดี เช่น C. acnes ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว ช่วยลดระดับของสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น Endotoxin และ Substance P. ช่วยให้สิวอักเสบน้อยลง และสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคและการติดเชื้อได้ดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสิวจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
Probiotic ที่นิยมใช้รักษาสิว
โปรไบโอติกสามารถพบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ทั้งในรูปแบบรับประทาน และรูปแบบใช้ภายนอก รูปแบบรับประทานมักพบในอาหารประเภทที่ผ่านการหมัก เช่น โยเกิร์ต, คีเฟอร์ (Kefir), กิมจิ, นมเปรี้ยว เป็นต้น และในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโปรไบโอติกผสมโดยเฉพาะ โดยมีสารสำคัญเป็นโปรไบโอติกหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกใช้ได้ตามปัญหาสิวที่พบ มีผลิตภัณฑ์รูปแบบใช้ภายนอกที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติก ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น ครีมบำรุงผิว มอยส์เจอไรเซอร์ สบู่ เป็นต้น
Lactobacillus – เช่น สายพันธุ์ Lactobacillus acidophilus, Lactobacillus plantarum, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus reuteri, Lactobacillus casei เป็นต้น
Lactobacillus acidophilus เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม สามารถลดการอักเสบของผิวที่เกิดจาก substance P ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบที่เกิดจากความเครียดและการผลิตน้ำมันมากเกินไป การศึกษาในผู้ป่วย 300 คน รับประทานมีโปรไบโอติกเป็นเวลา 8 วัน ตามด้วยการหยุด 2 สัปดาห์แล้วทำซ้ำ พบว่า 80% ของผู้ป่วยมีแผลอักเสบที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน (Bowe et al., 2014)
Bifidobacterium – เช่น สายพันธุ์ Bifidobacterium bifidum, Bifidobacterium lactis, Bifidobacterium longum, Bifidobacterium breve เป็นต้น
Bifidobacterium bifidum เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม มีบทบาทในการปรับสมดุลของลำไส้ให้มีสุขภาพดี เสริมภูมิคุ้มกันและบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน มีการศึกษาที่แสดงถึงการลดสิวและปรับปรุงสุขภาพผิว และสร้างภูมิคุ้มกัน ในการศึกษาของอิตาลีที่มีผู้ป่วย 40 คน ครึ่งหนึ่งได้รับอาหารเสริมที่ประกอบด้วย L. acidophilus และ Bifidobacterium bifidum ในปริมาณ 250 มก. เสริมจากการรักษาตามปกติ กลุ่มที่ได้รับโปรไบโอติกแสดงผลทางคลิกนิกเรื่องรักษาสิวดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้เสริม พร้อมทั้งลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ (Marchetti et al., 1987)
Streptococcus – เช่น สายพันธุ์ Streptococcus thermophilus, Streptococcus lactis, Streptococcus salivarius เป็นต้น
Streptococcus thermophilus เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม การศึกษาโดย Di Marzio et al. มีการใช้ Streptococcus thermophilus เป็นเวลา 7 วัน ผลแสดงให้เห็นว่าช่วยเพิ่มการผลิตเซราไมด์ (Ceramide) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของชั้นผิวหนังที่มีความสำคัญในการเป็นเกราะป้องกันผิว เสริมสร้างความแข็งแรง ช่วยเก็บความชุ่มชื่น และยังสามารถให้ผลต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียต่อ C. acnes ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาสิว
สรุป
จากทฤษฎีระหว่างลำไส้ สมอง และผิวหนัง (Gut-Brain-Skin Axis) ชี้ให้เห็นว่าความสมดุลของสุขภาพลำไส้มีผลโดยตรงต่อสุขภาพผิว ถ้าเราทานอาหารที่มีไขมันมากและมีกากใยน้อย ร่วมกับภาวะความเครียด ทำให้เกิดการอักเสบของสิวเพิ่มมากขึ้นได้ โดยโปรไบโอติกจะช่วยในส่วนนี้ ช่วยปรับสมดุลลำไส้ ลดการซึมผ่านของสารพิษแล้ว ยังช่วยลดสารก่อการอักเสบซึ่งเป็นผลดีในการรักษาสิว แม้โปรไบโอติกสามารถช่วยลดสิวได้ แต่ควรใช้เป็นวิธีเสริมในการรักษาสิว ร่วมกับการรักษาสิวแบบมาตรฐาน เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของการรักษาสิว
แหล่งอ้างอิง :
- Kober MM, Bowe WP. The effect of probiotics on immune regulation, acne, and photoaging. Int J Womens Dermatol. 2015 Apr 6;1(2):85-89. doi: 10.1016/j.ijwd.2015.02.001. PMID: 28491964; PMCID: PMC5418745.
- Bowe WP, Logan AC. Acne vulgaris, probiotics and the gut-brain-skin axis – back to the future? Gut Pathog. 2011 Jan 31;3(1):1. doi: 10.1186/1757-4749-3-1. PMID: 21281494; PMCID: PMC3038963.
- https://gurucheck.co.th/article_detail/default/375
- https://www.medcentral.com/dermatology/probiotics-for-adult-acne
- Sodha D, Lio P. The microbiome in acne: Where are we now? Pract Dermatol. June 2022. Accessed Sept. 11, 2023.
- Sanchez-Pellicer P, Navarro-Moratalla L, Nunez-Delegido E. Acne, microbiome, and probiotics: The gut-skin axis. Microorganisms. 2022 Jul; 10(7):1303. Doi:10.3390/microorganisms10071303.