รู้ทันเชื้อสิว… ศัตรูตัวร้ายที่ซ่อนอยู่บนผิว

       โดยทั่วไปเราจะแบ่งสิว เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สิวอักเสบและสิวที่ไม่อักเสบ และมีการแบ่งย่อยออกไปอีกตามลักษณะและอาการของสิว หากพูดถึงสิวอักเสบ ทุกคนคงทราบกันดีว่ามีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เรามักจะได้ยินชื่อแบคทีเรีย P. acnes ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว แต่เชื้อตัวนี้มาทำให้หน้าเราเป็นสิวได้อย่างไร Pharmaread จะพามารู้จักเชื้อสิวตัวนี้กันอย่างละเอียด และจะมีแค่เชื้อตัวนี้ใช่มั้ยที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว วันนี้เราจะหาคำตอบกันค่ะ เพราะสาเหตุของการเกิดสิว นำไปสู่การรักษาสิวที่แตกต่างกัน

เชื้อสิวคืออะไรกันแน่

       เชื้อสิวที่รู้จักกันดี เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cutibacterium acnes ชื่อย่อ C. acnes (เดิมเรียกว่า Propionibacterium acnes หรือ P. acnes) เป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ไม่ต้องการออกซิเจน ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของจุลินทรีย์ปกติบนผิวหนังของมนุษย์ทุกคน พบได้ทั่วไปบนผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก และหลัง แบคทีเรียชนิดนี้เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่บนผิวหนังของเด็กเล็ก ๆ ประมาณ 1-3 ปีก่อนวัยเจริญพันธุ์ และจะเพิ่มจํานวนขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวจํานวนมากมักมีปัญหาสิว 

       เชื้อแบคทีเรีย C. acnes ส่งผลให้เกิดสิวได้ โดยมักทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังเมื่อรูขุมขนอุดตัน หรือมีการสะสมของไขมันที่หลั่งออกมาจากต่อมไขมันมากเกินไป หากไขมันที่อุดตันและสะสมอยู่ภายในรูขุมขนไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้กับแบคทีเรีย C. acnes จะเข้ามาอาศัยอยู่ในต่อมไขมันที่มีการอุดตัน เพื่อย่อยสลายไขมันส่วนเกินนี้ไปเป็นอาหาร และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเกิดเป็นกระบวนการนี้ก่อให้เกิดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น และทำให้เกิดสิวชนิดตุ่มนูนแดงและสิวหัวหนองขึ้นได้

เชื้อ C. acnes ก่อสิวอักเสบ

       เชื้อแบคทีเรีย C. acnes มีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการที่นำไปสู่การเกิดสิวอักเสบ ผ่านกลไกต่าง ๆ C. acnes มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างไบโอฟิล์ม (biofilm) ของเชื้อแบทีเรีย ทำให้เชื้อเกาะกลุ่มกัน เพิ่มความทนทานต่อยาฆ่าเชื้อ มีความเกี่ยวข้องต่อการควบคุมเซลล์ผิว (Epidermal Keratinocytes) ควบคุมการอักเสบและการสร้างไขมันที่ผิดปกติของเซลล์ไขมัน (Sebocytes) และควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีสารอักเสบ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว มาบริเวณที่เป็นสิว ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดสิวอักเสบ ตุ่มหนอง

C. aneas acne skin ผิวที่เป็นสิว

แหล่งที่มา: Huang, C. et al. The updates and implications of cutaneous microbiota in acne. Cell Biosci 13, 113 (2023).

ยังมีเชื้อตัวอื่นที่ทำให้เกิดสิวอีกหรือไม่?

       แบคทีเรีย C. acnes เป็นแบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดสิว แต่ยังพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่มอื่น ๆ บนผิวหนังที่มีบทบาทในการเกิดสิวได้ เช่นกลุ่ม Staphylococcus epidermidis, Staphylococcus aureus หรือ Pseudomonas aeruginosa เป็นต้น มักพบร่วมกับ C. acnes ในการก่อให้เกิดสิว โดยเฉพาะเมื่อมีการอุดตันของรูขุมขน และมีไขมันส่วนเกินสะสม ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อบนผิวหนัง เช่น หากปริมาณของ S. epidermidis ลดลงหรือเกิดความไม่สมดุล อาจทำให้ C. acnes เจริญเติบโตได้ดีขึ้นและกระตุ้นการเกิดสิว หรือเชื้อบางชนิด แม้ไม่ใช่สาเหตุหลักของสิว แต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนในบริเวณที่เป็นสิว

       จากภาพ ผิวที่เป็นสิว เราจะเห็นว่ายังพบเชื้อไวรัส และเชื้อราบนผิวที่เป็นสิวอีกด้วย ซึ่งนอกจากเชื้อแบคทีเรีย C. acnes ที่ทำให้เกิดสิวแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากเชื้ออื่นได้อีกด้วย ซึ่งคือ เชื้อรา นั่นเอง เชื้อราเองก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวได้เช่นกัน

สิวจากเชื้อราแตกต่างจากสิวแบคทีเรียอย่างไร?

       สิวจากเชื้อรา หรือที่เรียกว่า “สิวยีสต์” เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อของเชื้อราประเภทยีสต์ โดยเฉพาะ Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ตามปกติบนผิวหนังของมนุษย์ แต่เมื่อมีการเจริญเติบโตมากเกินไปอาจนำไปสู่การเกิดสิวได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีความมันสูง หรือเชื้อรา Candida albicans แม้ไม่ใช่สาเหตุหลักของสิว แต่อาจทำให้เกิดผื่นที่มีลักษณะคล้ายสิว สิวจากเชื้อ Demodex หรือที่เรียกว่า demodicosis เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อของไร Demodex folliculorum ซึ่งเป็นไรขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในรูขุมขน แม้ไม่ใช่เชื้อโรค แต่การมีจำนวนมากเกินไปอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและสิว

       สิวยีสต์มักมีลักษณะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือตุ่มหนอง คล้ายสิวธรรมดา แต่มักมีอาการคันหรือระคายเคืองร่วมด้วย มักเกิดในบริเวณที่มีความมันมาก เช่น ใบหน้า หลัง หน้าอก และบริเวณที่มีการสวมใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น วิธีการรักษาสิวจากเชื้อรา เป็นการใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งชนิดทาและรับประทาน เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของ คีโตโคนาโซล (ketoconazole) หรือโคลไทรมาโซล (Clotrimazole) หลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาสิวทั่วไป เพราะอาจไม่ได้ผลและทำให้อาการแย่ลง

ปัจจัยที่ทำให้เชื้อสิวเจริญเติบโตดี และยิ่งก่อสิว

       นอกจากเชื้อสิวที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่สามารถกระตุ้นเชื้อสิวได้  Pharmaread ขอสรุปเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ

ปัจจัยภายใน

  • ต่อมไขมัน: ต่อมไขมันผลิตน้ำมันธรรมชาติ (sebum) ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อสิว เมื่อต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป จะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสิว
  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย: ในบางกรณี ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้เชื้อสิวเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน: การมีความเครียด หรือในช่วงวัยรุ่นและการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนแอนโดรเจน จะกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น 
  • พันธุกรรม: ประวัติครอบครัวที่มีปัญหาสิวสามารถเพิ่มโอกาสเกิดสิวได้ เนื่องจากพันธุกรรมมีบทบาทในการกำหนดลักษณะผิวและการตอบสนองต่อฮอร์โมน

ปัจจัยภายนอก

  • ความสะอาด: มือที่ไม่สะอาด อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอน อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อสิว เหงื่อที่ไม่ได้ล้างออก อาจทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสิว
  • เครื่องสำอาง: เครื่องสำอางที่หมดอายุหรือแปรงแต่งหน้าที่ไม่สะอาด อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อสิว หรือการล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด อาจทำให้เชื้อสิวเจริญเติบโตได้ง่าย
  • อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (High Glycemic Index): เช่น แป้ง ข้าวขาว น้ำผลไม้ไม่มีกาก อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนผิวหนัง ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสิว
  • อากาศและสิ่งแวดล้อม: พื้นที่ที่มีความชื้นสูง อาจเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อสิว
  • การใช้ยาบางชนิด: สเตียรอยด์ อาจส่งผลต่อสมดุลของแบคทีเรียบนผิวหนัง ทำให้เชื้อสิวเจริญเติบโตได้มากขึ้น

การป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อสิว และช่วยลดปัจจัยกระตุ้นเชื้อสิว

  • การทำความสะอาดผิวหน้าสม่ำเสมอ ควรล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดน้ำมันและสิ่งสกปรกที่อาจอุดตันรูขุมขน เลือกใช้สบู่หรือโฟมล้างหน้าที่ไม่มีน้ำมันและเหมาะสำหรับผิวที่เป็นสิว
  • การควบคุมการผลิตน้ำมัน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการผลิตน้ำมัน เช่น โลชั่นหรือเจลที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) 
  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ความเครียด สามารถกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเกิดสิว
  • การใช้ยา สำหรับเชื้อแบคทีเรีย ใช้ยาภายนอกที่มีส่วนผสมของ เช่น เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ หรือเรตินอยด์ (retinoids) เพื่อช่วยลดการเจริญเติบโตของ C. acnes หรือ ในกรณีที่สิวรุนแรง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่ง และใช้ยาต้านเชื้อรา สำหรับสิวที่เกิดจากเชื้อรา

       จะเห็นได้ว่าการเจริญเติบโตของเชื้อสิวมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้างมากมาย ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ระดับฮอร์โมน การตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมน กรรมพันธุ์ และปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น อาหาร ความสะอาด ยา จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันในรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว นอกจากนี้เชื้อสิวยังมีทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย C. acnes และเชื้อรา

       Pharmaread ขอแนะนำเลยว่า เราควรรู้จักชนิดของเชื้อสิว และหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ถูกต้อง เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาสิวได้ตรงจุด เพราะการลดโอกาสการเกิดสิวใหม่ ไม่กลับมาเป็นสิวอีก มีหลายอย่างที่ต้องคำนึง ไม่ใช่เพียงเวชสำอางลดสิว เช่น เจลแต้มสิว เวชสำอางของฟาร์มูล่า แต่ยังต้องปรับพฤติกรรมบางอย่างควบคู่ไปด้วยค่า

อ้างอิงจาก

  • Lomakin IB, Devarkar SC, Patel S, Grada A, Bunick CG. Sarecycline inhibits protein translation in Cutibacterium acnes 70S ribosome using a two-site mechanism. Nucleic Acids Res. 2023 Apr 11;51(6):2915-2930. doi: 10.1093/nar/gkad103. 
  • Bhatia A, Maisonneuve JF, Persing DH. PROPIONIBACTERIUM ACNES AND CHRONIC DISEASES. In: Institute of Medicine (US) Forum on Microbial Threats; Knobler SL, O’Connor S, Lemon SM, et al., editors. The Infectious Etiology of Chronic Diseases: Defining the Relationship, Enhancing the Research, and Mitigating the Effects: Workshop Summary. Washington (DC): National Academies Press (US); 2004. 
  • Huang, C., Zhuo, F., Han, B. et al. The updates and implications of cutaneous microbiota in acne. Cell Biosci 13, 113 (2023). https://doi.org/10.1186/s13578-023-01072-w
  • Paichitrojjana A, Paichitrojjana A. Case Series of Demodicosis in Acne Vulgaris Patients. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2023 Nov 18;16:3363-3368. doi: 10.2147/CCID.S441581. 
  • Burgess, L. Nodular acne: Definition and treatment options. (2018, May 15). Medical news today. https://www.medicalnewstoday.com/articles/321815#takeaway 
  • White GM. Recent findings in the epidemiologic evidence, classification, and subtypes of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol. 1998;39:S34-37.
  • Das S, Reynolds RV. Recent advances in acne pathogenesis: implications for therapy. Am J Clin Dermatol. 2014 Dec;15(6):479-88. doi: 10.1007/s40257-014-0099-z.