ระวัง!! วิตามิน/อาหารเสริม ที่ทานแล้วอาจเสี่ยงสิวขึ้น

       “สิว” เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนอุดตัน จากการผลิตน้ำมันที่มากเกินไป ร่วมกับการสะสมเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วที่รูขุมขน ทำให้เกิดเป็นสิวตามมา หากติดเชื้อแบคทีเรียก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น เกิดเป็นสิวอักเสบมีหนอง แต่สาเหตุการเกิดสิวมีได้หลายปัจจัย และมีปัจจัยซับซ้อนมากมายที่ส่งผลให้เกิดสิวได้ เช่นความสะอาด สภาพอารมณ์ หรือแม้แต่ยาเองก็ทำให้เกิดสิวได้ แต่หลาย ๆ คนอาจคิดไม่ถึงว่า วิตามิน และอาหารเสริมทั่วไปที่เราใช้เพื่อเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวได้ โดยทาง PHARMAREAD ได้รวบรวมวิตามิน/อาหารเสริม ที่เป็นสาเหตุการเกิดสิวมาให้แล้วทั้งหมด 8 ชนิด ให้ผู้ที่เป็นสิวได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติม ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

วิตามิน/อาหารเสริมที่ทานแล้วอาจเสี่ยงสิวขึ้น

1. สังกะสี (Zinc)

       นั่นแน่! บางคนร้อง ห๊ะ กันเลยทีเดียว เพราะเข้าใจว่าสังกะสีช่วยลดสิวไม่ใช่หรือ!? ต้องบอกว่า…. เข้าใจถูกแล้วค่ะ สังกะสีมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพผิว รวมถึงการรักษาบาดแผลและการรักษาความสมบูรณ์ของเซลล์ผิว การขาดสังกะสีสามารถทำให้สภาพสิวแย่ลง และมีการอักเสบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถแสดงออกมาเป็นสิวและตุ่มหนอง

       การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีระดับสังกะสีในเลือดต่ำมักจะเป็นสิวที่รุนแรงมากขึ้น การรับประทานอาหารเสริมสังกะสีจึงช่วยเรื่องลดสิวได้ โดยสังกะสีมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรีย และยังมีความสามารถในการสมานแผล ซึ่งสามารถช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและช่วยในการรักษารอยสิวที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้สังกะสียังอาจช่วยควบคุมการผลิตน้ำมันในผิวหนัง ทำให้ลดโอกาสในการอุดตันรูขุมขน

       มีการศึกษา (Dreno B, et al: 2001) พบว่าการใช้สังกะสีสามารถลดสิวได้จริง และเห็นผลใน 3 เดือน แต่ไม่เห็นผลดีเท่ายาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

       แต่ในทางกลับกัน การรับประทานอาหารเสริมสังกะสีก็มีความเสี่ยงสิวขึ้น เมื่อรับประทานในปริมาณสูงเกินไปอาจทำให้เกิดสิวเพิ่มขึ้นได้ในบางราย ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือประมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อวัน ปริมาณที่แนะนำสำหรับการรักษาสิว คือ 25 ถึง 30มิลลิกรัมต่อวัน โดยไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นขนาดที่ปลอดภัยสำหรับการใช้ในระยะเวลายาว

       การรับประทานสังกะสีในปริมาณที่สูง 100-300 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดพิษจากสังกะสี (zinc toxicity) มีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และส่งผลต่อแร่ธาตุตัวอื่นๆ เช่น ลดการดูดซึมทองแดง (Copper) ทำให้ขาดทองแดง (copper deficiency) มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้สมดุลของเซลล์ภูมิคุ้มกันผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่ผิวหนังมากขึ้น อาจทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันมากเกินไป สามารถทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขนและทำให้เกิดสิวได้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน เช่น เทสโทสเตอโรน ทำให้เกิดสิวที่เกิดจากแอนโดรเจน และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอล เช่น ลดระดับ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ดีได้ จึงอาจเกิดสิวขึ้นได้ในบางรายนั่นเอง

       หากสงสัยว่าผลิตภัณฑ์เสริมสังกะสีทำให้เกิดสิว ควรพิจารณาหยุดหรือลดปริมาณลง หรือเปลี่ยนรูปแบบเกลือของสังกะสี เช่น Zinc Picolinate หรือ Zinc Gluconate หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีสังกะสีสูงในอาหาร เช่น หอย, เนื้อ, ปลา, ไข่ และถั่ว เป็นวิธีธรรมชาติในการเพิ่มระดับสังกะสีโดยไม่ต้องเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณสูง

2. วิตามิน B6 และ B12

       การรับประทานวิตามิน B6 และ B12 ในปริมาณสูง มากกว่า 5 มก. ถึง 10 มก. ต่อสัปดาห์ อาจทำให้เกิดสิวหรือทำให้สิวที่มีอยู่แล้วแย่ลงได้

       โดยสาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย C. acnes ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิว ต้องการวิตามิน B12 เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการเผาพลาญพลังงาน เมื่อเสริมวิตามิน B6 และ B12 ให้ร่างกาย จะเหมือนกับการให้สารอาหารแก่แบคทีเรีย C. acnes ส่งผลให้มีการผลิต porphyrin ซึ่งเป็นสารประกอบที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และอาจนำไปสู่อาการอักเสบและสิวได้

       มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้วิตามิน B6 และ B12 มากกว่าผู้ชาย โดยลักษณะของสิวมักปรากฏเป็นตุ่มเล็กๆ หรือตุ่มหนองบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและคาง รวมถึงบริเวณหลังส่วนบนและหน้าอก นอกจากนี้ การใช้วิตามิน B6 และ B12 ขนาดสูง อาจนำไปสู่โรคผิวหนังอักเสบ โรซาเซีย (rosacea) ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการคล้ายสิว โรซาเซียมีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดใหญ่และตุ่มหนองที่ปรากฏบนจมูก คาง และแก้มเป็นหลัก

3. ไบโอติน (วิตามิน B7)

       ไบโอตินได้เป็นที่รู้จักสำหรับใช้ในการดูแลเส้นผม ผิวหนัง และเล็บ แต่การรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้การดูดซึมกรดแพนโทธีนิก (วิตามิน B5) ลดลง ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยควบคุมการผลิตน้ำมันในผิวหนัง ระดับวิตามิน B5 ที่ลดลงอาจนำไปสู่การผลิตน้ำมันที่มากเกิดไปเกิดการอุดตันรูขุมขน และนำไปสู่การเกิดสิวที่มากขึ้นได้

4. ไอโอดีน

       ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์และกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย มักพบในสาหร่ายทะเลและอาหารเสริมอื่น ๆ แต่การบริโภคในปริมาณมากเกินไป สามารถทำให้เกิดอาการที่ผิวหนังคล้ายสิวได้

       ระดับไอโอดีนสูงสามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังที่เรียกว่า iododerma ซึ่งอาจแสดงออกมาในรูปแบบของตุ่มหนองหรือรอยคล้ายสิวอักเสบบนใบหน้าและบริเวณด้านบนของร่างกาย อาการนี้เกิดจากการอักเสบและระคายเคือง เนื่องจากร่างกายขับไอโอดีนส่วนเกินผ่านทางผิวหนัง บางคนอาจมีความไวต่อไอโอดีนมากกว่า ทำให้เกิดสิวหรือผื่นแม้จะรับประทานอาการเสริมในขนาดต่ำ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น ปวดท้อง ไข้ และรสโลหะในปาก

5. โปรตีนเวย์

       โปรตีนเวย์ (Whey protein) เป็นอาหารเสริมที่ได้รับความนิยม ซึ่งสกัดมาจากน้ำนม และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด แต่ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของสิวและการตอบสนองของฮอร์โมน ได้รับความสนใจมากขึ้น

       มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการบริโภคทั้งนมเต็มไขมัน นมไขมันต่ำ และนมใด ๆ มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับการเกิดสิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคนมไขมันต่ำและนมพร่องมันเนย การศึกษา (Juhl CR, et al; 2018) พบว่าการบริโภคนมทุกประเภทมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดสิว ในกลุ่มอายุ 7-30 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มนมมากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเกิดสิวมากกว่าผู้ที่ดื่มนมน้อยกว่า

       กลไกการเกิดสิวจากการรับประทานโปรตีนเวย์มีความซับซ้อน โดยผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด สามารถกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนที่เลียนแบบอินซูลิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง insulin-like growth factor 1 (IGF-1) ซึ่งฮอร์โมนนี้มีบทบาทในการกระตุ้นการผลิตน้ำมัน (sebum)และการเพิ่มจำนวนเซลล์ผิวหนังทำให้เกิดอุดตันรูขุมขน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้

       หากสงสัยว่าโปรตีนเวย์ทำให้เกิดสิว ลองเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนถั่วเหลืองหรือโปรตีนจากถั่วลันเตา โปรตีนจากพืชโดยทั่วไปไม่กระตุ้นการผลิตน้ำมันมากเท่ากับโปรตีนเวย์จากนม เนื่องจากไม่มีฮอร์โมน IGF-1 ในปริมาณสูงเหมือนในผลิตภัณฑ์นม จึงอาจทำให้มีผลกระทบต่อผิวหนังน้อยกว่า

6. อาหารเสริมสำหรับสร้างกล้ามเนื้อ

       ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลายชนิดอาจมีการปนเปื้อนด้วย Anabolic-Androgenic Steroids (AAS) ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การปนเปื้อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างกระบวนการผลิตจากการควบคุมคุณภาพที่ไม่ดี หรือการปนเปื้อนภายในโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์หลายประเภท ตามข้อมูลจาก สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (USFDA) ในการศึกษาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 776 ชนิด พบว่า 89.1% ของ “ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ” มีการปนเปื้อนด้วยสเตียรอยด์สังเคราะห์ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรง รวมถึงสิวที่รุนแรงและผลข้างเคียงทางฮอร์โมนอื่น ๆ

       การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปนเปื้อนมีผลต่อความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่ทำให้สิวแย่ลง สเตียรอยด์แอนโดรเจนิกสามารถเพิ่มขนาดของต่อมไขมัน ทำให้เกิดการผลิตน้ำมันมากขึ้นและอุดตันรูขุมขน อาจประสบกับผื่นอักเสบที่แพร่หลาย ซึ่งเรียกว่า acne fulminans ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มอักเสบและตุ่มหนองที่เจ็บปวด สิวอาจปรากฏเป็นรอยนูน (papulonodular lesions) โดยเฉพาะบนลำตัวและใบหน้า นอกจากสิวแล้ว สเตียรอยด์แอนโดรเจนิกยังสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น การหลุดร่วงของเส้นผม, การเปลี่ยนแปลงในอารมณ์, อาการหงุดหงิด, ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น และความผิดปกติทางเพศ

7. Branched-Chain Amino Acids (BCAAs)

       Branched-Chain Amino Acids (BCAAs) เป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทในการสร้างกล้ามเนื้อ และการเผาผลาญพลังงาน แต่สามารถยังมีผลกระทบต่อสุขภาพผิวหนังได้ เนื่องจากมีผลต่อระดับอินซูลินและการผลิตน้ำมัน คล้ายกับโปรตีนเวย์

       BCAAs สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ระดับอินซูลินที่สูงขึ้นสามารถนำไปสู่การผลิตสารที่คล้ายกับอินซูลิน (IGF-1) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำมัน (sebum) ในผิวหนัง สิ่งนี้สามารถทำให้รูขุมขนอุดตันและส่งผลให้เกิดสิว ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมBCAA อาจเป็นสิวประเภทตุ่มนูน (papulonodular acne) ซึ่งปรากฏเป็นตุ่มอักเสบ โดยเฉพาะบนลำตัวและใบหน้า สิวประเภทนี้มีลักษณะเป็นตุ่มอักเสบและตุ่มหนอง

8. Collagen (อาจเกิดสิวจากสารเติมแต่งในตำรับ)

       ผลิตภัณฑ์เสริมคอลลาเจนมักถูกนำมาใช้ในเรื่องความยืดหยุ่นของผิว การให้ความชุ่มชื้น ช่วยเรื่องริ้วรอย และเสริมโครงสร้างของผิวหนัง คอลลาเจนโดยทั่วไปได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพผิว แต่ผลิตภัณฑ์คอลลาเจนบางชนิดอาจมีสารเติมแต่ง เช่น น้ำตาล สารกันเสีย กรดไขมัน หรือสารเคมีอื่น ๆ เป็นต้น อาจนำไปสู่การเกิดสิวได้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีผิวที่มีแนวโน้มจะเกิดสิวได้ง่าย เนื่องจากสารเติมแต่งเหล่านี้ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ในผิวหนัง ส่งผลให้เกิดสิวหรือผื่นแดง สารบางชนิดอย่างเช่นน้ำตาล สามารถกระตุ้นอินซูลินในร่างกาย อาจทำให้มีการผลิตน้ำมันมากเกินไป สามารถนำไปสู่การอุดตันของรูขุมขนและทำให้เกิดสิวได้

ทำอย่างไรหากเกิดสิวจากวิตามิน/อาหารเสริม

            หากสงสัยว่าวิตามิน/อาหารเสริมที่ใช้อยู่กำลังทำให้เกิดสิว อาจพิจารณาหยุดใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ก่อน เพื่อให้สิวดีขึ้น และพิจารณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ว่าใช้เหมาะสมหรือไม่ ควรใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาดที่แนะนำต่อวัน ไม่มากหรือน้อยเกินไป เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบที่เหมาะสม วิตามินบางตัวมีหลายรูปแบบเกลือ เช่น สังกะสี ที่มี Zinc gluconate, zinc picolinate หรือ Zinc sulfate เป็นต้น พยายามได้รับวิตามินจากอาหารที่หลากหลาย เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด และโปรตีนไม่ติดมัน แทนที่จะพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากเกินไป และยังต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอยู่อย่างสม่ำเสมอ ใช้ยารักษาสิวตามแนวทางการรักษา ปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสามารถช่วยแนะนำได้ว่ามีวิตามินหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดที่ทำให้เกิดสิว และมีความปลอดภัยเหมาะสม

       จะเห็นได้ว่าวิตามิน/อาหารเสริมทั้ง 8 ชนิดนี้ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เห็นได้ในชีวิตประจำวัน คนเป็นสิวอาจพิจารณาหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิวร่วมด้วย และที่สำคัญคนเป็นสิวควรใช้ยารักษาสิวตามแนวทางการรักษาสิว ตามแพทย์ผิวหนังแนะนำ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ลดสิวที่น่าเชื่อถือ และใส่ใจในการเลือกใช้วิตามินและอาหารเสริมให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถมีสุขภาพผิวที่ดีขึ้นและลดโอกาสในการเกิดสิวได้มากขึ้นค่ะ

แหล่งอ้างอิง

  • Zamil DH, Perez-Sanchez A, Katta R. Acne related to dietary supplements. Dermatol Online J. 2020 Aug 15;26(8):13030/qt9rp7t2p2.
  • Dreno B, Moyse D, Alirezai M, Amblard P, Auffret N, Beylot C, Bodokh I, Chivot M, Daniel F, Humbert P, Meynadier J, Poli F; Acne Research and Study Group. Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Dermatology. 2001;203(2):135-40.
  • Tucker J, Fischer T, Upjohn L, Mazzera D, Kumar M. Unapproved Pharmaceutical Ingredients Included in Dietary Supplements Associated With US Food and Drug Administration Warnings. JAMA Netw Open. 2018 Oct 5;1(6):e183337.
  • Rostami Mogaddam M, Safavi Ardabili N, Maleki N, Soflaee M. Correlation between the severity and type of acne lesions with serum zinc levels in patients with acne vulgaris. Biomed Res Int. 2014;2014:474108.
  • Braun-Falco O, Lincke H. Zur Frage der Vitamin B6-/B12-Akne. Ein Beitrag zur Acne medicamentosa [The problem of vitamin B6/B12 acne. A contribution on acne medicamentosa (author’s transl)]. MMW Munch Med Wochenschr. 1976 Feb 6;118(6):155-60.
  • Gulick CN, Peddie MC, Jowett T, Hackney AC, Rehrer NJ. Exercise, Dietary Protein, and Combined Effect on IGF-1. Int J Sci Res Methodol. 2020 Sep;16(3):61-77.
  • Juhl CR, Bergholdt HKM, Miller IM, Jemec GBE, Kanters JK, Ellervik C. Dairy Intake and Acne Vulgaris: A Systematic Review and Meta-Analysis of 78,529 Children, Adolescents, and Young Adults. Nutrients. 2018; 10(8):1049.
  • Agnew UM, Slesinger TL. Zinc Toxicity. [Updated 2022 Dec 11]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK554548/
  • Cervantes J, Eber AE, Perper M, Nascimento VM, Nouri K, Keri JE. The role of zinc in the treatment of acne: A review of the literature. Dermatol Ther. 2018 Jan;31(1).
  • Podgórska A, Kicman A, Naliwajko S, Wacewicz-Muczyńska M, Niczyporuk M. Zinc, Copper, and Iron in Selected Skin Diseases. Int J Mol Sci. 2024 Mar 29;25(7):3823. doi: 10.3390/ijms25073823. PMID: 38612631; PMCID: PMC11011755.
  • efsa.europa.eu/sites/default/files/assets/ndatolerableuil.pdf