เครื่อง High-Frequency Wand หรือ เครื่องช็อตสิว สำหรับการรักษาสิว เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่และมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวได้ และที่น่าสนใจคือสามารถใช้ได้เองที่บ้าน และยังใช้งานง่ายอีกด้วย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเครื่อง High-Frequency Wand หรือ เครื่องช็อตสิว สำหรับการรักษาสิวกันว่า เครื่อง High-Frequency Wand จะสามารถเป็นวิธีการแบบใหม่ที่ใช้แทนยารักษาสิวได้มั้ย!?
ในโซเชียลมีเดียกล่าวว่า เครื่อง High-Frequency Wand เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวเน็ต เพราะนอกจากใช้งานง่ายแล้ว ยังมีรีวิวเยอะว่าสามารถลดสิวได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลลัพธ์รวดเร็ว ระคายเคืองน้อย ตอนใช้จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาจี้เบา ๆ ที่ผิวหน้า และเครื่องนี้มีฟังก์ชันหลากหลาย นอกจากการรักษาสิวแล้ว เครื่องบางรุ่นยังมีประโยชน์ในการต่อต้านริ้วรอย ทำให้เป็นเครื่องที่คุ้มค่าต่อการลงทุน
อย่างที่เราทราบกันดี การเกิดสิวมีสาเหตุหลัก ๆ อยู่ 3 ประการ
- การผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน
- การแบ่งตัวมากเกินปกติของผิวหนัง ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วสะสมในรูขุมขน เกิดการอุดตัน
- การเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ติดเชื้อ C. acne ทำให้เกิดสิวอักเสบ
เครื่อง High-Frequency Wand เป็นการรักษาสิวจากการลดสาเหตุการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อสิวเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดสิว หากเรากำจัดสาเหตุส่วนนี้ได้ ก็สามารถลดการเกิดสิวได้
กลไกการลดสิวของเครื่อง High-Frequency Wand
เครื่อง High-Frequency Wand มีหลักการทำงานคือ จะสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ วิ่งผ่านอิเล็กโทรดแก้ว ซึ่งบรรจุก๊าซเฉื่อย เช่น ก๊าซนีออน หรือก๊าซอาร์กอน ปฏิกิริยาระหว่างกระแสไฟฟ้ากับก๊าซเฉื่อยจะสร้างโอโซนขึ้น เมื่อใช้บนผิวหนัง จะมีการสร้างโอโซนขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งโอโซนมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวไม่สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีโอโซนสูง ทำให้ลดการเกิดสิวลงได้เมื่อเวลาผ่านไป
เครื่อง High-Frequency Wand มักใช้ ก๊าซอาร์กอน สำหรับผิวมันและมีแนวโน้มเป็นสิว ขณะที่ ก๊าซนีออน มักใช้เพื่อประโยชน์ในการต่อต้านริ้วรอย โดยช่วยเพิ่มการผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน
ประสิทธิภาพด้านการลดเชื้อสิว
จากกลไกการทำงานของเครื่อง High-Frequency Wand จะเห็นว่าเป็นผลของโอโซนในการลดแบคทีเรีย มีการรวบรวมการศึกษาและดูผลลัพธ์พบว่า การบำบัดด้วยโอโซนมีผลลดการอักเสบ และสามารถต้านแบคทีเรียได้จริง มีประโยชน์ในหลายสถานการณ์ เช่น แผลที่เท้าจากเบาหวาน แผลเรื้อรังที่ขา อาการผื่นภูมิแพ้ ผิวหนังไหม้ โรคเล็บติดเชื้อ และโรคเชื้อราที่เท้า จากการศึกษา 15 จาก 18 รายงานผลลัพธ์เชิงบวกสำหรับการบำบัดด้วยโอโซนในการรักษาโรคผิวหนังเหล่านี้ (Oliveira Modena DA; et. 2022)
ประสิทธิภาพของเครื่อง High-Frequency Wand ที่เข้ามาช่วยกำจัดสาเหตุการเกิดสิวจากการฆ่าเชื้อสิว และเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหน้า มีการศึกษาในห้องปฏิบัติการ (in vitro) ที่เห็นผลจริง โดยการศึกษาจะใช้เครื่อง High-Frequency ส่องบนจานเพาะเชื้อ C. acne เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้เครื่อง พบว่าอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อสิว C. acne ลดลงใน 1 นาที ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างโอโซนบนจานเพาะเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น (Frommherz L; et. 2022)
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในหลอดทดลองได้สรุปว่าเครื่อง High-Frequency Wand สามารถลดแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยขึ้นอยู่กับเวลาและความเข้มข้นของโอโซน และได้เสนอให้เครื่อง High-Frequency Wand เป็นทางเลือกที่ดีต่อการรักษาแบคทีเรีย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น (Wietzikoski Lovato EC; et. 2018)
ผลลัพธ์ที่รวบรวมได้ในการศึกษาเหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ (in vitro) แต่ก็แสดงให้เห็นถึงผลของเครื่อง High-Frequency Wand ที่สามารถลดแบคทีเรียได้ สามารถเป็นทางเลือกเสริมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นสิวได้ นอกจากนี้ยังอาจมีผลดีต่อผู้ป่วยที่มีโรคติดเชื้อผิวหนังอื่น ๆ การศึกษาผลลัพธ์ในห้องปฏิบัติการนี้มีแนวโน้มที่ดี แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในสิ่งมีชีวิต (in vivo) เพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมจริง รวมถึงการติดตามระยะยาว เพื่อตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยจากการใช้งาน
โอโซน มีผลในการต้านการอักเสบและมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียจริง แต่หากใช้ในความเข้มข้นสูง (โดยปกติ >200 µg/m³, >0.1 ppm) เป็นระยะเวลานาน โอโซนอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคปอด เช่น COPD หรือถุงลมโป่งพอง (Jerrett M, et; 2009) แต่ปริมาณโอโซนในกระบวนการรักษาด้วยเครื่อง High-Frequency Wand นั้นน้อยเกินไปและระยะเวลาในการใช้งานก็สั้นเกินไป ที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านสำหรับผิวหนัง เช่น แสงพัลส์เข้มข้น (IPL), เลเซอร์ไดโอด, คลื่นวิทยุ, ไดโอดที่ปล่อยแสง, และการบำบัดด้วยแสงอัลตราไวโอเลต B เพื่อประเมินเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านสำหรับผิวหนัง ผลพบว่า อุปกรณ์ทั้งหมดมีประวัติด้านความปลอดภัยที่ดี โดยมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญน้อยมาก (Cohen, M., et. 2022)
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
- ระคายเคืองผิวหนัง อาจอาการระคายเคือง เช่น แดงหรือบวมที่บริเวณที่ใช้เครื่อง หากใช้ในระดับความเข้มสูงเกินไปหรือบ่อยเกินไป
- แสบร้อน อาจรู้สึกแสบร้อนหรือไม่สบายขณะใช้เครื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งค่าความเข้มที่สูงเกินไป
- ผลข้างเคียงจากการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น การใช้เครื่องวัดความถี่สูงร่วมกับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารเคมี เช่น กรด AHA หรือ BHA อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเพิ่มขึ้น
- ไม่เหมาะสำหรับบางสภาพผิว ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือมีปัญหาผิวหนังบางประเภท เช่น โรคผิวหนังอักเสบหรือโรคสะเก็ดเงิน ควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน
PHARMAREAD ขอสรุป ตามข้อมูลที่สืบค้นมา อุปกรณ์ High-frequency wand หรือ เครื่องช็อตสิว สามารถลดสิวได้ ด้วยการสร้างโอโซนเพื่อลดการเจริญของเชื้อสิวที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิว สามารถเลือกใช้เป็นตัวเลือกเสริมของการรักษาสิวได้ แต่ไม่ควรใช้ทดแทนการรักษาสิวตามแนวทางปกติ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด และถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกต้องตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังก่อนเริ่มใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าเหมาะสมกับสภาพผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีภาวะผิวหนังหรือความไวต่อสิ่งกระตุ้นอยู่แล้ว หากตัดสินใจซื้อมาใช้แล้ว PHARMAREAD ขอแนะนำให้ ทดสอบอุปกรณ์ก่อน โดยทดสอบที่บริเวณเล็ก ๆ ของผิวหนังก่อน เพื่อตรวจสอบว่ามีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์หรือไม่
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © Pharmular Brand All rights reserved.
แหล่งอ้างอิง
- Frommherz L, Reinholz M, Gürtler A, Stadler PC, Kaemmerer T, French L, Clanner-Engelshofen BM. High-frequency devices effect in vitro: promissing approach in the treatment of acne vulgaris? An Bras Dermatol. 2022 Nov-Dec;97(6):729-734.
- Wietzikoski Lovato EC, Gurgel Velasquez PA, Dos Santos Oliveira C, Baruffi C, Anghinoni T, Machado RC, Lívero FADR, Sato SW, Martins LA. High frequency equipment promotes antibacterial effects dependent on intensity and exposure time. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2018 Mar 23;11:131-135.
- Cohen, M., Austin, E., Masub, N. et al. Home-based devices in dermatology: a systematic review of safety and efficacy. Arch Dermatol Res 314, 239–246 (2022).
- Oliveira Modena DA, de Castro Ferreira R, Froes PM, Rocha KC. Ozone Therapy for Dermatological Conditions: A Systematic Review. J Clin Aesthet Dermatol. 2022 May;15(5):65-73.
- Sharma M., Hudson J.B. Ozone gas is an effective and practical antibacterial agent. Am J Infect Control. 2008;36:559–563.
- Jerrett M., Burnett R.T., Pope C.A., Ito K., Thurston G., Krewski D., et al. Long-term ozone exposure and mortality. N Engl J Med. 2009;360:1085–1095.
- Kim S.Y., Kim E., Kim W.J. Health effects of ozone on respiratory diseases. Tuberc Respir Dis (Seoul) 2020;83:S6–S11.