สำหรับคนที่เลี้ยงสัตว์มักเกิดคำถามบ่อยๆ ว่า ขนหมา/แมวทำให้เกิดสิวได้มั้ย?
คำตอบคือ….ได้ค่ะ! เพราะ ตัวไรที่อยู่บนขนของสัตว์เลี้ยงเป็นตัวการหลักที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนังของคนเรา ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนังมากมาย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาผิวหนังที่พบบ่อยอย่างสิว (acne) PHARMAREAD ได้รวบรวมตัวไรที่พบเจอได้บ่อยและสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้มาให้ได้ศึกษากัน เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงผลของตัวไรจากสัตว์เลี้ยงกับปัญหาผิวหน้า ทำให้รู้วิธีป้องกันและการรักษาที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดสิวได้อีกสำหรับผู้ที่มีการสัมผัสสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด
ตัวไร (Mites) คือ ปรสิตขนาดเล็ก ที่อยู่ในกลุ่มของ Arachnids ซึ่งเป็นญาติของแมงมุมและแมงป่อง ตัวไรมีขนาดเล็กมาก จนบางครั้งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มักจะอาศัยอยู่บนผิวหนังของสัตว์และมนุษย์ โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในรูขุมขน ต่อมไขมัน หรือช่องหูของสัตว์เลี้ยงหรือมนุษย์ ตัวไรสามารถเป็นปรสิตที่ก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาผิวหนังได้ โดยมีหลายชนิดที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ เรียกว่า zoonotic mites ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น คัน ผื่นแดง หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้ ในบางกรณีตัวไรเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่อุดตันรูขุมขนและทำให้เกิดสิวได้อีกด้วย
ตัวไรที่พบบ่อยในสัตว์เลี้ยง
1.Demodex spp. (ตัวไรในรูขุมขน)
ตัวไร Demodex เป็นไรที่อาศัยอยู่ในรูขุมขน เป็นส่วนหนึ่งของจุลินทรีย์ที่พบได้ทั่วไปบนผิวหนังของมนุษย์ Demodex ยังพบได้ในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Demodex ที่อาศัยอยู่ในมนุษย์ แต่เป็นชนิดที่แตกต่างกันไปตามประเภทของสัตว์แต่ละชนิด โดยตัวไร Demodex ในสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะมีการอาศัยอยู่ในรูขุมขนและต่อมไขมันของสัตว์เหล่านั้น และไม่ก่อให้เกิดโรค
ชนิดของ Demodex ที่พบในสัตว์เลี้ยง
1.1 Demodex canis (ในสุนัข): เป็นตัวไรชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข โดยมักพบในรูขุมขนและต่อมไขมันของสุนัขที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง สุนัขที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น สุนัขที่ยังเล็ก หรือสุนัขที่มีปัญหาสุขภาพ ตัวไร Demodex สามารถทำให้เกิดการอักเสบและอาการผิดปกติของผิวหนัง สามารถทำให้เกิดการสูญเสียขน อาการคัน และการอักเสบ ซึ่งเป็นอาการของ โรคเดโมดิซอสิส (canine demodicosis)
1.2 Demodex cati (ในแมว): เป็นชนิดที่พบในแมวและมีลักษณะการอาศัยอยู่คล้ายกับในสุนัข มักพบในแมวที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น แมวที่ป่วยจากโรคต่าง ๆ หรือแมวที่มีอายุมาก
1.3 Demodex gatoi (ในแมว): เป็นอีกชนิดที่พบในแมว และมักก่อให้เกิดอาการคันหรืออักเสบที่ผิวหนังมากกว่าชนิดอื่น ๆ แตกต่างจาก Demodex cati ตรงที่ตัวไร Demodex gatoi สามารถแพร่กระจายจากแมวหนึ่งไปยังแมวอื่น ๆ ได้ ดังนั้นจึงควรแยกแมวตัวที่ติดเชื้อออกมาเพื่อควบคุมและรักษา
ตัวไร Demodex จะไม่สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ง่ายเหมือนกับตัวไรขี้เรื้อน (Sarcoptes scabiei) แต่บางครั้งก็สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างสัตว์และมนุษย์ ในคนปกติตัวไร Demodex มักไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีการติดเชื้อหนัก ขาดสมดุลของจุลินทรีย์บนผิวหนัง มีความหนาแน่นของตัวไร Demodex สูงผิดปกติ อาจทำให้เกิดสิวหรือผื่น ซึ่งเรียกว่า โรคเดโมดิซอสิส (demodicosis) สามารถแสดงอาการที่หลากหลาย รวมถึงอาการที่คล้ายกับสิวทั่วไป ตัวอย่างเช่น อาจมีตุ่มหนองและผื่นที่เกิดขึ้นบนใบหน้า ซึ่งนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็น demodicosis แบบ folliculitis ที่อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสิวทั่วไป อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรซาเซีย (rosacea) เช่น การแดงที่ใบหน้า สิว หรือการระคายเคืองในผิวหนัง หรือทำให้มีอาการคล้าย โรคผิวหนังอักเสบ (eczema), ฟอลลิคูลิติส (folliculitis) และ ผิวหนังอักเสบรอบปาก (perioral dermatitis)
2. Sarcoptes scabiei (ตัวไรขี้เรื้อน)
ตัวไรชนิดนี้ทำให้เกิดโรคขี้เรื้อน (scabies) ซึ่งสามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ พบได้บ่อยในสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ สามารถแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ได้ผ่านการสัมผัสผิวหนังโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อน เช่น ที่นอน หรือเฟอร์นิเจอร์ การติดเชื้อไรขี้เรื้อนทำให้เกิดอาการคันรุนแรง มีผื่นแดง และแผล โดยเฉพาะในบริเวณมือ ข้อศอก และรักแร้ และมีการอักเสบร่วมด้วยเมื่อไรขี้เรื้อนขุดเข้าไปในผิวหนัง ส่วนอาการในสัตว์ สุนัขที่ติดเชื้อไรขี้เรื้อนจะมีอาการคัน ขนร่วง และมีแผลเป็นสะเก็ดหรือขุยที่ผิวหนัง
3. Cheyletiella spp. (ตัวไรเดินขน หรือ “Walking Dandruff Mite”)
ทำให้เกิดอาการคันและมีขุยคล้ายเกล็ดขน ซึ่งมักพบได้ในกระต่าย, สุนัข, แมว, และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ตัวไรเชย์เลติเอลลาติดต่อจากสัตว์สู่คนได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการสัมผัสกับสิ่งของที่มีการปนเปื้อน เช่น ที่นอนหรืออุปกรณ์ดูแลขนสัตว์ ในมนุษย์ ตัวไรเชย์เลติเอลลาจะทำให้เกิดอาการคันและมีขุยเหมือนเกล็ดผิวหนัง ซึ่งมักเรียกว่า “walking dandruff” เนื่องจากตัวไรจะเคลื่อนที่ไปบนผิวหนัง ส่วนอาการในสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อจะมีอาการคัน ขนร่วง และมีขุยหรือเกล็ดผิวหนังคล้ายกับรังแค
4. Notoedres cati (ไรขี้เรื้อนแมว)
ตัวไร Notoedres cati มักพบในแมว โดยเฉพาะในบริเวณใบหู หน้า และอวัยวะอื่น ๆ ของแมว สามารถติดเชื้อและส่งต่อให้มนุษย์ได้ในบางกรณี ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อน เช่น ที่นอนหรือเสื้อผ้าที่มีเชื้อไรติดอยู่ ในมนุษย์ การติดเชื้อจากตัวไร Notoedres cati สามารถทำให้เกิดอาการคันและผื่นแดงในบางส่วนของร่างกาย โดยมักจะเกิดในบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่การติดเชื้อในมนุษย์นั้นค่อนข้างหายาก ในแมวที่ติดเชื้อไร Notoedres cati มักมีอาการคันรุนแรง ขนร่วง มีผิวหนังอักเสบหรือแผลเปิด โดยเฉพาะบริเวณหู หน้าผาก และรอบ ๆ ตา
หากติดเชื้อแล้วจะรักษาอย่างไร
การรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อตัวไรในสัตว์เลี้ยง สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับชนิดของตัวไรและระดับของการติดเชื้อ โดยต้องรักษาสัตว์เลี้ยงควบคู่ไปด้วยกัน และต้องคำนึงถึงสุขภาพโดยรวมของสัตว์นั้น ๆ อีกด้วย
- ยาเฉพาะที่ : สเปรย์หรือครีมที่มีสารช่วยฆ่าตัวไร เช่น ยาทา Benzoyl Peroxide หรือ ยา Ivermectin โรคขี้เรื้อน (scabies) จากเชื้อ Sarcoptes scabiei อาจต้องใช้ยา permethrin หรือ pyrethrin-based products หรือ ติดเชื้อตัวไร Demodex ในมนุษย์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา เช่น metronidazole ขณะที่สัตว์เลี้ยงการรักษามักใช้แชมพูกำจัดไร (acaricidal treatments)
- ยารับประทาน : ยา Ivermectin หรือ Milbemycin ซึ่งจะช่วยควบคุมจำนวนของตัวไร
- การรักษาเชื้อแบคทีเรียร่วม : หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วม อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
- ดูแลสุขภาพทั่วไป : การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ เช่น การปรับอาหาร หรือการดูแลสภาพร่างกายโดยรวมให้แข็งแรง
ตัวไรจากสัตว์เลี้ยงสามารถป้องกันได้
- รักษาความสะอาด: ดูแลรักษาความสะอาดของสัตว์เลี้ยง เช่น การอาบน้ำและการทำความสะอาดขนอย่างสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำ: การตรวจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและรักษาปัญหาผิวหนัง
- แยกสัตว์ที่มีอาการ: หากมีการติดเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้ เช่น Demodex gatoi ในแมว ควรแยกสัตว์ที่มีอาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังสัตว์อื่น
โดยทั่วไป ตัวไรอาจไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงในสัตว์เลี้ยง แต่หากมีการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจอาการของการติดเชื้อตัวไรต่าง ๆ และรู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ รวมทั้งรู้การรักษาที่เหมาะสมจึงสำคัญอย่างมาก การเกิดสิวจากสัตว์เลี้ยงก็จะไม่ใช้ข้อกังวลของคนเลี้ยงสัตว์อีกต่อไป
แหล่งอ้างอิง
- Paichitrojjana A, Paichitrojjana A. Case Series of Demodicosis in Acne Vulgaris Patients. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2023;16:3363-3368
https://doi.org/10.2147/CCID.S441581 - Aktaş Karabay E, Aksu Çerman A. Demodex folliculorum infestations in common facial dermatoses: acne vulgaris, rosacea, seborrheic dermatitis. An Bras Dermatol. 2020 Mar-Apr;95(2):187-193. doi: 10.1016/j.abd.2019.08.023. Epub 2020 Feb 12. PMID: 32113677; PMCID: PMC7175027.
- Zhao YE, Hu L, Wu LP, Ma JX. A meta-analysis of association between acne vulgaris and Demodex infestation. J Zhejiang Univ Sci B. 2012 Mar;13(3):192-202. doi: 10.1631/jzus.B1100285. PMID: 22374611; PMCID: PMC3296070.
- Esenkaya Taşbent F, Dik B. Bir öğrencide köpek ilişkili Demodex spp. enfestasyonu: nadir bir Demodex olgusu [A dog related Demodex spp. infestation in a student: a rare Demodex case]. Mikrobiyol Bul. 2018 Apr;52(2):214-220. Turkish. doi: 10.5578/mb.66410. PMID: 29933739.
- Jofré M L, Noemí H I, Neira O P, Saavedra U T, Díaz L C. Acarosis y zoonosis relacionadas [Animal mites transmissible to humans and associated zoonosis]. Rev Chilena Infectol. 2009 Jun;26(3):248-57. Spanish. Epub 2009 Jun 25. PMID: 19621159.
- Parać E, Špiljak B, Lugović-Mihić L, Bukvić Mokos Z. Acne-like Eruptions: Disease Features and Differential Diagnosis. Cosmetics. 2023; 10(3):89. https://doi.org/10.3390/cosmetics10030089
- Cardoso AEC, Cardoso AEO, Talhari C, Santos M. Update on parasitic dermatoses. An Bras Dermatol. 2020 Jan-Feb;95(1):1-14. doi: 10.1016/j.abd.2019.12.001. Epub 2019 Dec 31. PMID: 32001061; PMCID: PMC7058862.