คนเป็นสิวต้องรู้ คู่ซี้หรือคู่แซด? สารสกัดรักษาสิวเหล่านี้ใช้ด้วยกันได้หรือไม่? ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

เรตินอลห้ามใช้กับอะไร
          เคยนับหรือไม่ว่าในแต่ละวันเราใช้ผลิตภัณฑ์บนใบหน้ากันกี่อย่าง เริ่มตั้งแต่การเช็ดทำความสะอาดใบหน้า การล้างทำความสะอาดใบหน้า บำรุงผิวหน้าด้วยผลิตภัณฑ์หลายๆสูตร ลงผลิตภัณฑ์กันแดด และตามด้วยเครื่องสำอาง ยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์รักษาสิวต่างๆ ที่มักจะมีอาการข้างเคียง เช่น แสบ แห้ง ลอก ยิ่งประโคมหลายๆ ตัว อาจทำให้ผิวยิ่งแย่ วันนี้ PHAR-มา-WRITE จะพาทุกคนมาจับคู่กัน ว่าสารสำคัญคู่ไหน เป็นคู่ซี้ คู่ไหนเป็นคู่แซด จะได้เลือกใช้กันได้อย่างปลอดภัย

คู่ SAD ( T T )

ในที่นี้ PHAR-มา-WRITE ขอจัดหมวดหมู่ตามสารสำคัญที่ออกฤทธิ์จากสารสกัดที่พบได้บ่อย  ได้แก่ Retinol และ Retinoic acid, Benzoyl peroxide และกลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดช่วยผลัดเซลล์ผิว ได้แก่ AHA/BHA/PHA นะคะ

คู่แซดของ Retinol และ Retinoic acid 

Retinol และ Retinoic acid มีคู่แซดที่ควรระวังกันใช้ร่วมกัน ได้แก่ Benzoyl peroxide, AHA, BHA, PHA และ Vitamin C อาจจะคุ้นตากับสารสำคัญเหล่านี้ เพราะมักจะอยู่ในผลิตภัณฑ์รักษาสิวต่างๆ มาทำความเข้าใจในเชิงวิชาการไปพร้อมๆกันนะคะ

  1. Retinol และ Retinoic acid กับ Benzoyl peroxide

เนื่องจาก Benzoyl peroxide สามารถทำให้สาร Retinol และ Retinoic acid สลายได้ เมื่อ Retinol และ Retinoic acid สลายจึงไม่สามารถมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวได้ดีเท่าเดิม แต่การศึกษาพบว่า ไม่ใช่ทุกผลิตภัณฑ์ของ retinol ที่จะเกิดการสลายตัวได้ ต้องแล้วแต่ตำรับของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา 

คำแนะนำ: หากจำเป็นต้องใช้สารสำคัญ 2 ชนิดนี้ร่วมกัน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี Benzoyl peroxide ในช่วงเช้า และ retinol ช่วงกลางคืน

  1. Retinol และ Retinoic acid กับกลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดช่วยผลัดเซลล์ผิว ได้แก่ AHA, BHA และ PHA 

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับกลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดช่วยผลัดเซลล์ผิวหรือกรดผลไม้ ได้แก่ AHA, BHA, PHA คร่าวๆ ก่อนนะคะ

AHA ย่อมาจาก Alpha Hydroxy Acid

AHA เป็นกรดที่ได้มาจากผลไม้จำพวกเลม่อน ส้ม แอปเปิ้ล ผ่านกระบวนการหมัก กรดนี้สามารถละลายในน้ำได้ มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆที่ออกฤทธิ์เฉพาะผิวชั้นนอก กรด AHA จะช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายไปแล้ว ช่วยส่งเสริมให้ผิวเรียบเนียน กระจ่างใส และให้ผิวชุ่มชื่นมากขึ้น จึงเหมาะกับผิวธรรมดาและผิวแห้ง 

TIPS: AHA ที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Citric acid, Glycolic acid, Tartaric acid, Mandelic acid และ Lactic acid

BHA ย่อมาจาก Beta Hydroxy Acid

BHA ได้มาจากเป็นสารสกัดธรรมชาติที่ได้มาจากเปลือกของต้นวิลโลขาว กรดนี้ ละลายในน้ำมัน จึงสามารถแทรกซึมเข้าไปในชั้นผิวได้ดี กรด BHA จึงเหมาะกับผิวมัน ผิวที่มีรูขุมขนกว้าง หรือผิวที่มีปัญหาสิวอุดตัน กรด BHA ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ลดการอุดตันรูขุมขน ลดการอักเสบ และลดหน้าแดง 

TIPS: BHA พบในสารสังเคราะห์อย่าง Salicylic acid ได้ด้วย

PHA ย่อมาจาก Poly Hydroxy Acid

PHA มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับ AHA ในการขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว แต่ PHA มีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่กว่า จึงซึมผ่านเข้าชั้นผิวได้น้อยกว่า ส่งผลให้ก่อให้เกิดความระคายเคืองของผิวได้น้อยกว่า AHA กรด PHA ช่วยเพิ่มการผลัดเซลล์ผิว เพิ่มความชุ่มชื่น ช่วยให้ผิวดูสดชื่น สุขภาพดี เหมาะกับผิวบาง ผิวอ่อนโยน แพ้ง่าย 

TIPS: PHA ที่พบบ่อยในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Gluconolactone, Galactose และ Lactobionic Acid

โดย AHA, BHA และ PHA สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยแนะนำให้ทยอยใช้ AHA และ BHA ทีละตัวในความเข้มข้นต่ำๆก่อน เมื่อผิวสามารถปรับตัวได้แล้ว จึงค่อยๆเพิ่มความถี่ และสลับวันกันใช้ได้ สำหรับ AHA หรือ BHA สามารถใช้ร่วมกับ PHA ได้ แต่ควรหมั่นสังเกตผิวของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติ เช่น ผิวแดง ให้หยุดใช้ก่อน

สาร Retinol และกลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดช่วยผลัดเซลล์ผิว มีฤทธิ์ในการผลัดเซลล์ผิวทั้งคู่ อย่าเข้าใจผิดว่า จะยิ่งทำให้ผิวกระจ่างใสได้เร็วนะคะ แต่การใช้ 2 ตัวร่วมกันจะส่งผลให้ผิวไวต่อแดดและผิวคล้ำได้เสียง่ายขึ้น

คู่แซดของ Benzoyl peroxide

Benzoyl peroxide มีคู่แซดที่ควรระวังกันใช้ร่วมกัน ได้แก่ Retinol และ Retinoic acid กลุ่มกรดผลไม้ AHA, BHA, PHA และ Vitamin C

  1. Benzoyl peroxide กับ Retinol และ Retinoic acid สามารถย้อนกลับไปอ่านได้จากด้านบนนะคะ

2. Benzoyl peroxide กับกลุ่มกรดผลไม้ AHA, BHA และ PHA 

การใช้ Benzoyl peroxide ร่วมกับสารกลุ่มกรดผลไม้ ส่งผลให้ผิวบางลง ผิวแห้ง และแดงมากขึ้น

คำแนะนำ: หากจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้แยกเวลาทากันคนละช่วงเวลาหรือใช้สลับวันกัน เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว

  1. Benzoyl peroxide กับ Vitamin C

เนื่องด้วย Benzoyl peroxide สามารถ oxidize และสลาย vitamin C ได้ หากใช้ร่วมกัน จะไปลดประสิทธิภาพของกันและกัน ใช้ด้วยกันสามารถส่งผลให้ผิวระคายเคืองได้

TIPS: หากจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้ใช้ Benzoyl peroxide ในช่วงกลางคืน และใช้ Vitamin C ในช่วงกลางวัน หรือใช้สลับวันกัน 

คู่ ซี้ ( ^ ^ / )

เมื่อรู้จักคู่แซดกันได้แล้ว มารู้จักคู่ซี้กันบ้างดีกว่าค่ะ คู่สารสำคัญที่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน ในที่นี้ PHAR-มา-WRITE ขอยกตัวอย่างสารสำคัญที่ใช้บ่อยมาให้ศึกษากันนะคะ

  1. Retinol + Hyaluronic Acid 

ทั้ง retinol และ hyaluronic acid เป็นสารสำคัญยอดนิยมที่พบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว โดย retinol ช่วยกระตุ้นการสร้าง collagen ให้ผิวดูอ่อนเยาว์ ช่วยให้ริ้วรอยแลดูจางลง แต่ทำให้ผิวระคายเคืองได้ ในขณะที่ hyaluronic acid ให้ความชุ่มชื้นคงอยู่กับผิว ทำให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป ฉะนั้น เมื่อใช้ร่วมกัน hyaluronic acid จะช่วยลดการระคายเคืองผิว จาก retinol ได้ 

TIP: แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์ที่มีสาร hyaluronic acid ก่อน จากนั้น จึงทาผลิตภัณฑ์ที่มีสาร retinol เพื่อให้ hyaluronic acid มาช่วยลดความแห้งของผิวหนังก่อนได้ โดยเฉพาะในคนที่มีผิวแห้ง

  1. AHA, BHA + Ceramides

จากที่ทราบกันแล้วว่ากรดผลไม้ อย่าง AHA และ BHA ช่วยผลัดเซลล์ผิวออก ทำให้น้ำมันเคลือบผิวตามธรรมชาติหายไป รวมถึงอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ ceramides จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่น ให้ผิวดูอิ่มน้ำมากยิ่งขึ้น และช่วยลดการระคายเคืองได้ด้วย การใช้สารสำคัญ 2 ตัวนี้พร้อมกัน จะช่วยให้ผิวดูนุ่มมากขึ้น ดูกระจ่างใสมากขึ้น ทั้งยังช่วยทำให้ผิวเรียบเนียนและดูชุ่มชื่น

  1. Azelaic acid หรือ Niacinamide หรือ Bukuchiol ร่วมกัน

Azelaic acid มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในผิวที่มีผื่นแดง ช่วยให้จุดด่างดำแลดูจางลง niacinamide เป็นวิตามิน บี3 ช่วยในการสร้างโปรตีนในผิวหนัง รักษาความชุ่มชื้นและ Bukuchiol มีคุณสมบัติคล้าย retinol แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อ่อนโยนต่อผิวหน้า ช่วยให้ริ้วรอยแลดูจางลง สารสำคัญทั้ง 3 ชนิด สามารถใช้ร่วมได้

การใช้ Azelaic acid และ bakuchiol ร่วมกัน จะช่วยในการแก้ปัญหาผิวหน้าต่างๆ โดย Azelaic acid ช่วยต้านการอักเสบและแก้ปัญหาสิว ในขณะที่ bakuchiol ช่วยลดเส้นรอยแก่และริ้วรอย แนะนำสลับเวลากันใช้ โดยใช้ Azelaic acid ในช่วงเช้าและ bakuchiolในช่วงกลางคืน ช่วยให้ผิวหน้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม ควรหยุดใช้หากมีอาการผิดปกติ อย่าลืมสังเกตผิวของตัวเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ

จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ทุกสารสกัดจะไปด้วยกันได้ ฉะนั้น ก่อนหยิบผลิตภัณฑ์อะไรใส่ตะกร้า ควรอ่านส่วนประกอบที่สำคัญก่อนและหากไม่มั่นใจสามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อเสริมความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่จะมาใช้เป็น routine เพื่อผิวหน้าที่ดีของเรานะคะ
References
  1. Del Rosso JQ, Pillai R, Moore R. Absence of Degradation of Tretinoin When Benzoyl Peroxide is Combined with an Optimized Formulation of Tretinoin Gel (0.05%). J Clin Aesthet Dermatol. 2010 Oct;3(10):26-8. 
  2. Ortiz A, Aranda FJ, Gómez-Fernández JC. Interaction of retinol and retinoic acid with phospholipid membranes. A differential scanning calorimetry study. Biochim Biophys Acta. 1992 May 21;1106(2):282-90. 
  3. Drug Interactions between benzoyl peroxide topical and Vitamin C. [internet]. Drugs. [cite 18 May 2024]. Available from:https://www.drugs.com/drug-interactions/benzoyl-peroxide-topical-with-vitamin-c-354-0-238-3823.html
  1. Retinol vs Hyaluronic Acid. [internet]. The Skins expert. [cite 18 May 2024]. Available from:https://theskinexperts.co.uk/blogs/beyond-the-routine/retinol-vs-hyaluronic-acid

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © Pharmular Brand All rights reserved.