วิตามินที่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริม รับประทานเข้าไปเพื่อหวังผลในการลดสิวและบำรุงผิวนั้น มีเยอะแยะมากมาย ทั้งที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า ร้านยาและขายออนไลน์ วันนี้ PHAR-มา-WRITE มีบทความที่ช่วยให้ทุกคนเข้าใจวิตามินที่อยู่ในอาหารเสริม จะได้เลือกซื้อ เลือกรับประทานได้ถูกต้อง ตรงจุดและปลอดภัยนะคะ
สิวเกิดได้จากหลายสาเหตุ วิธีแก้ไขปัญหาสิวก็มีได้หลากหลายวิธีเช่นกันค่ะ เจ้าวิตามินต่างๆ มีส่วนช่วยในการควบคุมและลดการอักเสบของสิว ช่วยให้เซลล์ผิวผลัดเซลล์ได้ดีขึ้น จึงช่วยแก้ไปปัญหาสิวได้ วันนี้ PHAR-มา-WRITE ขอพูดถึงวิตามินยอดฮิต ที่พบได้บ่อยและคุ้นหูกัน ซึ่งก็คือ ซิงค์ สารสกัดใบบัวบกและคอลลาเจน นะคะ
ซิงค์หรือสังกะสี (Zinc)
สังกะสีจัดเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายผลิตเองไม่ได้ จำเป็นต้องรับประทานจากอาหารหรืออาหารเสริมเข้าไป สามารถพบได้ในอาหารทะเล หอยนางรม เนื้อสัตว์ ไข่ เมล็ดฟักทอง ช็อคโกแลต ธัญพืช ซิงค์จะอยู่ในรูปเกลือที่แตกต่างกัน อาหารเสริมส่วนใหญ่จะใช้เป็นรูปแบบ zinc gluconate และ zinc sulfate แต่ถ้ารูปแบบยาใช้ภายนอก มันจะเป็นรูปแบบ zinc oxide ซึ่งมีฤทธิ์ในการสะท้อน UV ได้
Zinc ช่วยลดการสร้างไขมันหรือซีบัม เมื่อไขมันสร้างลดลง จึงช่วยลดความมันบนใบหน้า ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ ลดการติดเชื้อ ช่วยให้แผลที่เกิดจากสิวอักเสบหายเร็วขึ้น และช่วยลดสิวที่มีสาเหตุจากฮอร์โมนได้ ปริมาณ zinc ที่แนะนำต่อวันคือ 15-30 มิลลิกรัมต่อวัน “อย่าลืมนะ ว่า zinc จะอยู่ในรูปเกลือต่างๆ เช่น zinc sulfate จะต้องดูเฉพาะปริมาณ zinc เดี่ยวๆ นะคะ” อาการข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย การรับรู้รสชาติแปลกไปจากปกติ ไม่ควรรับประทานสังกะสีร่วมกับวิตามินหรืออาหารเสริมที่มีทองแดง (copper; Cu+, Cu2+) เหล็ก (iron; Fe2+, Fe3+) หรือฟอสฟอรัส (phosphorus; ) ในเวลาเดียวกัน ควรเว้นห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะไปลดการดูดซึมของ zinc นั่นเองค่ะ แนะนำให้รับประทาน zinc ต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์เพื่อให้เห็นประสิทธิภาพค่ะ
การศึกษาของ Dreno B และคณะ ปี 2001 ทำการศึกษาในคนไข้ จำนวน 332 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสังกะสี ขนาด 30 มิลลิกรัม และ ได้รับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย minocycline* ขนาด 100 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า ทั้งซิงค์และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างมีประสิทธิภาพในการรักษาสิวอักเสบ ลดการอักเสบได้ดี และมีฤทธิ์ช่วยเรื่องสมานแผล แต่ยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพมากกว่าซิงค์ถึง 17%
*ยา minocycline, doxycycline เป็นยาในกลุ่ม tetracyclines
เหมาะกับ: คนที่ใบหน้ามัน มีสิวอักเสบ ไม่อยากรับประทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นระยะเวลานาน
สารสกัดใบบัวบก (Gotu Kola หรือ Centella Asiatica)
เราคงเคยได้ยินเรื่องคุณสมบัติของใบบัวบกในเรื่องของแก้ช้ำใน ดับร้อนกันใช่ไหมคะ จริงๆแล้ว สารสกัดใบบัวบก มีฤทธิ์ในการป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิได้ มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ ในด้านผิวหนังเอง พบว่า ใบบัวบกช่วยลดและบรรเทาอาการอักเสบของผิว เช่น ลดการอักเสบของสิวได้ รวมถึงช่วยสมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น กระตุ้นการผลิตคอลลาเจน ช่วยป้องกันและรักษารอยสิว ปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ 60-180 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 4-12 เดือน อาการข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย มึนงงศีรษะ บางรายพบระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
จากการศึกษาของ Park KS. ปี 2021 ได้กล่าวถึงประสิทธิภาพของใบบัวบกในแง่ของการรักษาสิว พบว่า การเติบโตของเชื้อ P.acnes จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารต่างๆ เช่น neutrophils ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการอักเสบบริเวณดังกล่าว สารสกัดใบบัวบกมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P.acnes ได้ (inhibition zone < 15 mm) จึงสามารถนำสารสกัดใบบัวบกมาใช้ในการรักษาสิวอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้นั่นเอง
เหมาะกับ: ผู้ที่มีสิวอักเสบ ผิวอักเสบจากสิว
คอลลาเจน (collagen)
คอลลาเจน (collagen) เป็นโปรตีนที่มีลักษณะเป็นเส้นใย หรือเรียกว่า เส้นใยโปรตีน ทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันช่วยเชื่อมต่อเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน พบได้ที่ผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ เล็บ เอ็น และข้อ โดยเส้นใบโปรตีนนี้จะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิง พบว่า คอลลาเจนใต้ผิวหนังในชั้นผิวหนังแท้ลดลงถึง 1.5% ต่อปี จึงเป็น 1 ในเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อเราอายุมากขึ้น ผิวจะหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยได้นั่นเอง การรับประทานคอลลาเจนเข้าไป เมื่อถูกดูดซึมแล้ว จะไปช่วยการซ่อมแซมผิวหนังให้แข็งแรง โดยำงานในระดับเซลล์ ช่วยให้ผิวหนังกระชับขึ้น แข็งแรงขึ้น เมื่อผิวหนังแข็งแรงขึ้น สิวก็จะเกิดขึ้นลดน้อยลงไปด้วย ในปัจจุบัน มีคอลลาเจนมากมายหลายชนิด แต่คอลลาเจนที่เกี่ยวข้องกับผิวที่สุด คือ คอลลาเจนประเภทที่ 1 ซึ่งพบมากในผิวหนังและกระดูก ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อฉีกขาด มีความเหนียวและแข็งแรงมากที่สุด เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างกระดูก ผนังหลอดเลือด ผิวพรรณ เส้นเอ็นและเอ็นยึดกล้ามเนื้อ ผิวหนัง กระจกตา และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
การศึกษา Choi FD และคณะ ปี 2019 ได้ทบทวนวรรณกรรมจำนวน 11 การศึกษา เป็นจำนวนผู้ป่วย 805 รายที่รับประทานคอลลาเจนขนาด 2.5 กรัมต่อวัน ถึง 10 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 8-24 สัปดาห์ พบว่า การรับประทานคอลลาเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาวมีส่วนช่วยในการรักษาเยียวยาแผลเป็น ช่วยลดริ้วรอยก่อนวัยอันควร รวมถึง ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความชุ่มชื่นของผิวหนังได้ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการรับประทานคอลลาเจน
เหมาะกับ: ผู้ที่มีริ้วรอย ผิวแห้ง
จะเห็นได้ว่า วิตามิน แร่ธาตุ และสารสกัดต่างๆ ล้วนมีบทบาทในการช่วยดูแลผิวได้ โดยวิตามินซี ซิงค์ ใบบัวบก และคอลลาเจนสามารถพบได้ทั้งรูปแบบอาหารเสริมและรูปแบบผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอก หากต้องการเห็นผลลัพธ์เร็ว การใช้ในรูปแบบทาเพื่อให้สารสำคัญออกฤทธิ์เฉพาะที่นั้น จะเห็นผลได้เร็วกว่า แต่ถ้าอยากให้เห็นผลในระยะยาว มีการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ การรับประทานอาหารเสริม จะตอบโจทย์มากกว่าค่ะ ทั้งนี้ หากเราต้องการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถทั้งรับประทานใช้ใช้ผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปได้ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับผิวได้มากขึ้นนะคะ
References:
- Telang PS. Vitamin C in dermatology. Indian Dermatol Online J. 2013 Apr;4(2):143-6.
- Cervantes J, Eber AE, Perper M, Nascimento VM, Nouri K, Keri JE. The role of zinc in the treatment of acne: A review of the literature. Dermatol Ther. 2018 Jan;31(1).
- Dreno B, Moyse D, Alirezai M, Amblard P, Auffret N, Beylot C, Bodokh I, Chivot M, Daniel F, Humbert P, Meynadier J, Poli F; Acne Research and Study Group. Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Dermatology. 2001;203(2):135-40.
- Choi FD, Sung CT, Juhasz ML, Mesinkovsk NA. Oral Collagen Supplementation: A Systematic Review of Dermatological Applications. J Drugs Dermatol. 2019 Jan 1;18(1):9-16.
- Gupta M, Mahajan VK, Mehta KS, Chauhan PS. Zinc therapy in dermatology: a review. Dermatol Res Pract. 2014;2014:709152.