ช่วงนี้กระแสการดูแลผิวให้ฉ่ำว่า Glassy แบบพส. เกาหลีกำลังมาแรงสุดๆ การจะดูแลผิวให้แลดูฉ่ำวาวนั้น มีเคล็ดลับและเทคนิคแตกต่างกันออกไป หลักการคือ การทำความสะอาดใบหน้าให้หมดจรดเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนผิว จากนั้นใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดลอกออก ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื่น รวมถึงการทาผลิตภัณฑ์กันแดดเพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ผิวโดนทำร้าย PHAR-มา-WRITE อยากพาผู้อ่านทุกๆท่าน ทำความรู้จักกับส่วนประกอบยอดนิยมของ how to get glass skin เพราะไม่ว่าแหล่งข้อมูลไหน ๆ จะต้องมีสารตัวนี้แนะนำอย่างแน่นอน นั่นก็คือ เรตินอล (Retinol) นั่นเอง ฉะนั้น เนื้อหาวันนี้จะพาไปรู้จักกับเรตินอลและขอแถมเจ้าฝาแฝดของเรตินอลมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ด้วยค่ะ

มาทำความรู้จักกับ Retinol กันก่อน…
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับเรตินอลก่อนนะคะ เรตินอลเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่ม เรตินอยด์ (Retinoids) หรือวิตามินเอ (Vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน เรตินอลมีความสำคัญสำหรับการมองเห็น การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ รวมถึงช่วยซ่อมบำรุงเซลล์ผิวหนังและเซลล์เยื่อบุอีกด้วย เรตินอลสามารถพบได้ในอาหารทั่วไป (ตามธรรมชาติ) เช่น ปลา ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ผลไม้สีเหลือง/ส้ม เช่น แครอท ฟักทอง และเนื้อสัตว์ต่างๆ รวมถึงสามารถพบได้ในรูปแบบอาหารเสริม (สังเคราะห์) รับประทานเสริมในผู้ที่มีภาวะเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเกิดจากการพร่องวิตามินเอ บทบาททางด้านผิวหนัง เรตินอลเป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ทำให้ผิวยืดหยุ่น ช่วยให้ริ้วรอยแลดูจางลง และช่วยกระชับผิวที่หย่อนคล้อย จึงมักพบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เน้นเรื่อง anti-aging เป็นส่วนใหญ่ แต่จากคุณสมบัติของเรตินอลที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดออกมา และช่วยลดการสร้างเม็ดสี จึงช่วยปรับให้สีผิวดูสม่ำเสมอ ลดเลือนจุดด่างดำ จากคุณสมบัติทั้งหมดนี้ จึงทำให้เรตินอลมีหลากหลายประโยชน์และเป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย
พออ่านมาถึงตรงนี้ รู้สึกประทับใจในสารเรตินอลและอยากจะไปหาซื้อมาใช้กับทางผิวหนังมากเลยใช่ไหมคะ PHAR-มา-WRITE ขอให้ข้อมูลว่าไม่ใช่ทุกสภาพผิวจะสามารถใช้เรตินอลได้อย่างปลอดภัย บทความนี้จะมาช่วยให้ผู้อ่านทุกคนรู้จักเรตินอลและเลือกใช้ได้ถูกสถานการณ์มากขึ้นค่ะ
การผลัดเซลล์ผิวหรือ skin cell turnover เป็นกระบวนการธรรมชาติของร่างกายที่จะคอยผลัดเซลล์ผิวที่ตายไปแล้วและแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวหนังชั้นกำพร้า หรือที่เรียกว่า epidermis ในชั้น epidermis เอง ประกอบด้วยชั้นหลายๆชั้น โดยเซลล์ผิวหนังใหม่จะสร้างมาจากชั้นล่างสุด แล้วค่อยๆเคลื่อนที่ขึ้นมาจนถึงชั้นบนสุดหรือผิวชั้นนอกที่เราสัมผัสได้นั่นเอง กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลา 28 วันโดยเฉลี่ย กระบวนการผลัดเซลล์ผิวนี้ส่งผลให้ผิวเรียบเนียน ปรับให้สีผิวสม่ำเสมอ รอยสิวจางไว ริ้วรอยแลดูจางลง ผิวดูยืดหยุ่นกระชับ และลดการเกิดสิวอุดตัน แต่อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กระบวนการนี้ช้าลง จากเดิม 28 วัน อาจยืดยาวไปจนถึง 45 วัน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดริ้วรอย ผิวหย่อยคล้อย สิวอุดตัน สีผิวไม่สม่ำเสมอ
คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่เหมาะสม?
เคล็ดลับง่ายๆ ที่ช่วยให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เร็วไม่ช้าไปนั้น คือ การทำให้ผิวหนังชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ปกป้องผิวจากรังสี UV หลีกเลี่ยงฝุ่น มลภาวะต่างๆ และปรับอารมณ์ให้มีความเครียดลดลง ลดความเครียดสะสม นอนหลับอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วน เคล็ดลับที่กล่าวมานั้น เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้โดยไม่เสียเงิน แต่ PHAR-มา-WRITE เข้าใจค่ะ เราไม่สามารถพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียด หรือรับประทานอาหารดีๆ ตลอดเวลาได้ การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีเรตินอลจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวให้ผิวเรา
ผลิตภัณฑ์ที่มีเรตินอลเป็นส่วนประกอบนั้นมีตั้งแต่ความเข้มข้นต่ำจนถึงความเข้มข้นสูง นั่นคือ ความเข้มข้น 0.01 % จนถึง 1% โปรดอ่านความแรงด้วยความระมัดระวังนะคะ เพราะต่างกันถึง 100 เท่าเลยทีเดียว แนะนำให้เริ่มใช้จากความเข้มข้นต่ำก่อน ทาทุก 2-3 วันต่อสัปดาห์และค่อยๆเพิ่มความเข้มข้น เมื่อทาสารเรตินอลลงบนผิวแล้ว จะถูกเอนไซม์บนผิวหนังเปลี่ยนสภาพ จาก Retinol เป็น Retinal หรือ Retinaldehyde และเปลี่ยนเป็น Retinoic acid จึงจะทำงานกับผิวเราได้
นั่นหมายความว่า Retinol จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงถึง 2 ครั้ง กว่าจะได้เป็น Retinoic acid ฉะนั้น Retinol จะอ่อนโยนต่อผิวมากกว่า ระคายเคืองน้อยกว่า Retinal และ Retinoic acid แต่ประสิทธิภาพก็จะน้อยกว่าเช่นกัน

Bakuchiol แฝดคนละฝากับ Retinol
จากที่เกริ่นมาตอนต้นว่าเรตินอลมีฝาแฝดที่เรียกได้ว่าถ้าเป็นคน ก็คงแทบจะแยกกันไม่ออกเลยทีเดียว แม้สรรพคุณของเรตินอลที่กล่าวมาทั้งหมดดูน่าสนใจ น่าใช้กับผิวมากๆ แต่หากยังมีความกังวลกลัวว่าจะระคายเคืองผิว เจ้าสารเรตินอลเอง ก็มีฝาแฝดที่ให้คุณสมบัติและประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน จนเหมือนเป็นสารตัวเดียวกันเลย นั่นก็คือ Bakuchiol (บา-คู-ชิ-ออล) เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกได้ว่า อาจจะมาแทน เรตินอลในอนาคตอันใกล้นี้เลยก็ว่าได้
Bakuchiol เป็นสารสกัดจากธรรมชาติได้มาจากน้ำมันของเมล็ดและใบของต้น Babchi (Psoralea corylifolia) จากประเทศอินเดีย Bakuchiol ไม่ใช่สารสกัดที่เพิ่งถูกค้นพบ เพราะอยู่ในตำราอายุรเวทของอินเดียหรือแม้แต่ยาสมุนไพรจีนแผนโบราณมาเนิ่นนาน โดยสาร Bakuchiol มีคุณสมบัติแทบจะเหมือนกับเรตินอลแทบจะทั้งหมด (แฝดคนละฝาสุดๆ) จึงมักถูกเรียกว่า “เรตินอลจากธรรมชาติ” (Retinol-like) มีความออร์แกนิคไร้สารเคมี ตอบโจทย์สาวๆ สายคลีนสุดๆ ที่สำคัญไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงเหมือนกับเรตินอลจึงสามารถทาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีความอ่อนโยนต่อผิวมากกว่า ไม่ทำให้ผิวแพ้ง่ายหรือผิวแดง สามารถใช้ช่วงเป็นสิวได้ คุณสมบัติที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน ทำให้ผิวยืดหยุ่น ช่วยให้ริ้วรอยแลดูจางลง ช่วยกระชับผิวที่หย่อนคล้อยและกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวนั้นแทบจะเทียบเคียงได้กับเรตินอลเลย ถ้าบทละครโทรทัศน์มีฝาแฝดอย่าง มุนิน-มุตา กาสะลอง-ซ้องปีป ผักบุ้ง-กุ้งนาง (เดาอายุผู้เขียนได้เลยใช่ไหมนะคะ) ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวก็มี Retinol-Bakuchiol นี่แหละ
อยากจะ glassy แต่ช่วงนี้สิวเห่อ
ช่วงนี้กระแสการดูแลผิวให้ผิวฉ่ำวาวแบบ พส. เกาหลีกำลังมาแรง การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม Retinol หรือ Bakuchiol นั่นเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ผิวฉ่ำวาวได้ แต่ไม่ใช่ทุกสภาพผิวที่จะเห็นผลดีนะคะ เนื่องจากการใช้ Retinol ในช่วงแรกอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ การระคายเคืองนี้ ได้แก่ ผิวแดง แสบ คัน และลอก รวมถึงคุณสมบัติของเรตินอลที่ช่วยเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว จึงสามารถดันสิวอุดตันที่อยู่ใต้ผิวหนังให้ออกมาพร้อมๆกัน ในช่วงที่สภาพผิวยังไม่พร้อม โดยเฉพาะช่วงที่ผิวมีสิวอักเสบ จึงควรงดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอลไปก่อน (แต่สามารถใช้ Bakuchiol ในช่วงที่เป็นสิวได้นะ) ถึงตอนนี้รู้สึกเอ๊ะในใจกันหน่อยๆใช่ไหมคะ เพราะจริงๆ แล้วเรตินอลเองก็สามารถช่วยลดการอักเสบของสิวได้ ถ้าอยากใช้เรตินอลเพื่อรักษาสิวอักเสบจริงๆ PHAR-มา-WRITE แนะนำให้ใช้ที่ความเข้มข้นต่ำๆ หรือปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนนะคะ เพราะแต่ละความแรงในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นเหมาะสมกับสภาพผิวที่แตกต่างกันค่ะ เมื่อปรับสภาพผิวจนแข็งแรงดีแล้ว รักษาสิวจนหายแล้ว เราค่อยมาเสกผิวให้ฉ่ำวาวอย่างอ่อนโยนกันจะดีกว่านะคะ
References
- Koster MI. Making an epidermis. Ann N Y Acad Sci. 2009 Jul;1170:7-10.
- Quan T. Human Skin Aging and the Anti-Aging Properties of Retinol. Biomolecules. 2023 Nov 4;13(11):1614.
- Zasada M, Budzisz E. Retinoids: active molecules influencing skin structure formation in cosmetic and dermatological treatments. Postepy Dermatol Alergol. 2019 Aug;36(4):392-397.
- Dhaliwal S, Rybak I, Ellis SR, Notay M, Trivedi M, Burney W, Vaughn AR, Nguyen M, Reiter P, Bosanac S, Yan H, Foolad N, Sivamani RK. Prospective, randomized, double-blind assessment of topical bakuchiol and retinol for facial photoageing. Br J Dermatol. 2019 Feb;180(2):289-296.
บทความลิขสิทธิ์ Copyright © Pharmular Brand All rights reserved.